คลิกๆๆ รูปสวยๆน่ารักๆไว้ส่งต่อเพียบ... คลิกๆๆ รูปสวยๆน่ารักๆไว้ส่งต่อเพียบ... คลิกๆๆ รูปสวยๆน่ารักๆไว้ส่งต่อเพียบ...

วันอังคารที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

บริหารการเงินเพื่อชีวิตที่พอเพียง

 เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย การเพิ่มรายได้สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การลงทุนทำมาค้าขาย หาอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้ โดยอาจต้องลงทั้งทุน ลงทั้งแรง หรือศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม เพื่อเป้าหมายในการเพิ่ม เงินเดือน หรือหาโอกาสก้าวหน้าขึ้นในอนาคต โดยรายได้ในแต่ละเดือนของครอบครัว ควรจัดสรรใช้จ่ายอย่างเหมาะสม เช่น ค่าที่อยู่อาศัย ไม่ควรให้มีการผ่อนชำระเกิน 30% ของรายได้ครอบครัว หรือถ้าจะก่อหนี้เงินกู้เพื่อซื้อรถยนต์ ก็ไม่ควรให้มีภาระการผ่อนชำระเกิน 15% ของรายได้ครอบครัว นอกจากนั้น ค่าอาหารแบ่งใช้ไป 25% ค่าเนื้อผ้าและค่าเดินทาง 10% ค่าสาธารณูปโภค 5% ค่ารักษาพยาบาล 5% และที่สำคัญอย่าลืมเก็บเงินออมหรือเงินทุน 5-10% ของรายได้ต่อครอบครัว
    
       ฉลาดซื้อ ฉลาดใช้    
       การลดรายจ่าย คือการฉลาดใช้สิ่งของต่างๆ รอบตัวให้เกิดประโยชน์สูงสุด และต้องฉลาดซื้อด้วยเลือกซื้อแต่สินค้าที่คุ้มค่าคุ้มประโยชน์ และฉลาดใช้ด้วยการรักษาสิ่งของต่างๆ ให้คงอยู่ในสภาพที่เหมาะกับการใช้งานได้นานๆ รวมถึงการประหยัดค่าใช้จ่ายจำพวก ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ที่สำคัญคือการฉลาดใช้ชีวิต ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง สมบูรณ์ เพราะการเจ็บป่วย ย่อมนำไปสู่ค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น
    
       วางแผนเกษียณอายุ    
       เพราะเราไม่ได้มีแรงทำงานไปตลอดชีวิต เมื่อถึงจุดหนึ่งที่ต้องหยุดทำงาน ดังนั้น การวางแผนการเงินในช่วงเกษียณอายุการทำงานจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม
       การหาระยะเวลาแห่งช่วงชีวิต ปัจจุบันนี้มนุษย์มีอายุเฉลี่ยอยู่ได้ถึง 72-75 ปี และด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ปัจจุบัน ทำให้มนุษย์มีอายุนานขึ้น ซึ่งอาจบวกเพิ่มได้ถึง 20 ปีจากค่าเฉลี่ยนั้น สิ่งที่ควรคำนึงในการเก็บเงินเพื่ออายุช่วงเกษียณคือระดับเงินเฟ้อ ที่มีแนวโน้มหรือคาดว่าน่าจะเป็นไปในช่วงเวลาของการเกษียณอายุ ซึ่งอาจทำให้เงินออมที่คุณหามาด้วยความยากลำบากในแต่ละปี ด้อยค่าลงอย่างช่วยไม่ได้
    
       ดังนั้นเราต้องการเงินประมาณ 70-75% ของรายได้ก่อนการเกษียณอายุ เพื่อเอาไว้เป็นค่าใช้จ่ายยามเกษียณอายุ โดยเฉพาะ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสุขภาพที่จะเพิ่มมากขึ้นเมื่อเราแก่ตัวลง โดยจำนวนเงินนี้อาจแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับวิถีหรือไลฟ์สไตล์ของแต่ละคน
    
       บันทึกค่าใช้จ่าย    
       เคยคิดบ้างไหม ว่าทำไมเงินที่หามาทั้งเดือนหมดไปอย่างรวดเร็ว สาเหตุก็คือ เพราะเราขาดความยับยั้งชั่งใจใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น ขาดการวางแผนการใช้เงินที่ดี มารู้ตัวอีกทีก็ไม่มีจะจ่ายแล้ว...
    
       หากอยากปรับเปลี่ยนการใช้จ่ายให้รัดกุมกว่าเดิม วิธีง่ายที่สุดคือต้องบันทึกค่าใช้จ่ายทุกบาท ทุกสตางค์ ที่จ่ายออกไปในแต่ละวัน หมั่นสร้างหลักฐานเตือนตัวเองให้เห็นว่าในแต่ละเดือนมีค่าใช่จ่ายอะไรบ้างที่จำเป็น และไม่จำเป็น เพื่อจะได้รู้ว่าค่าใช้จ่ายสิ่งไหนควรตัดทิ้งไปในเดือนต่อไป
    
       บริหารเงินออม    
       สุดท้ายเมื่อคุณสามารถบริหารรายได้ และค่าใช้จ่ายของคุณอย่างรัดกุมแล้ว เงินส่วนที่คุณเก็บได้คือเงินออม โดยอาจนำไปฝากธนาคาร ซื้อกรมธรรม์ประกันชีวิต หรือนำไปลงทุน เพื่อให้ได้ผลตอบแทนมากว่าเงินเฟ้อที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน หรือจะเพิ่มขึ้นในอนาคต
    
       นำเงินไปฝากธนาคาร คงเป็นวิธีบริหารเงินออมที่ดีอีกวิธีหนึ่ง ซึ่งผู้ออมจะได้รับดอกเบี้ยจากการฝากเงิน จำนวนดอกเบี้ยที่ได้รับก็ขึ้นอยู่กับประเภทของการฝาก เช่น เงินฝากออมทรัพย์ เงินฝากประจำ หรือเงินฝากกระแสรายวัน ผู้ออมควรเลือกประเภทเงินฝากให้เหมาะกับตัวเอง หากต้องการใช้เงินบ่อยครั้งต่อวัน ก็เลือกฝากเงินแบบออมทรัพย์ ซึ่งสามารถฝาก-ถอน ได้หลายครั้งต่อวัน ธนาคารจะคิดอัตราดอกเบี้ยรายวัน แต่กรณีที่ต้องการดอกเบี้ยมากกว่าการฝากแบบออมทรัพย์ ผู้ออมสามารถเลือกฝากเงินแบบฝากประจำ ซึ่งมีระยะเวลาในการฝากต่างกัน เช่น 3 เดือน 6 เดือน 12 เดือน หรือฝากประจำรายเดือนยกเว้นภาษี แต่หากต้องการใช้เช็คในการสั่งจ่าย ก็สามารถใช้บริการแบบเงินฝากกระแสรายวัน
    
       หากใครที่ต้องการนำเงินไปลงทุน ก็ต้องศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนเอง อย่างการเปิดร้าน หรือลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ หรือแม้แต่เลือกที่จะลงทนในตราสารทางการเงิน เช่นลงทุนในหุ้น ลงทุนในตราสารหนี้ หรือลงทุนในกองทุนรวม ดังนั้น อย่าลืมคำนึงถึงความเสี่ยงในการลงทุน และศึกษาให้ดีเสียก่อนที่จะตัดสินใจเริ่มลงทุน โดยหาข้อมูลได้จากสถาบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือหาข้อมูลการลงทุนตราสารทางการเงินได้ที่สถาบันพัฒนาความรู้ตลาดทุน (TSI) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
    
       ข้อมูล : คู่มือชีวิตพอเพียง ตามแนวพระราชดำริ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น