คลิกๆๆ รูปสวยๆน่ารักๆไว้ส่งต่อเพียบ... คลิกๆๆ รูปสวยๆน่ารักๆไว้ส่งต่อเพียบ... คลิกๆๆ รูปสวยๆน่ารักๆไว้ส่งต่อเพียบ...

วันเสาร์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2555

10 ข้อดี Facebook Fan Page ต่อธุรกิจ

        


        Facebook เป็นโซเชียลเน็ตเวิร์กสำหรับให้ผู้คนมาปฎิสัมพันธ์กัน ไม่ใช่เพื่อเป็นสังคมของการช้อปปิ้ง แล้วทำไมบริษัทของเราถึงควรเสียเวลาและทรัพยากรบุคคลมาคอยดูแล Fan Page ของ Facebook ด้วยล่ะ (Fan Page คือหน้าโปรไฟล์ของบริษัท) ถึงแม้ว่าสมาชิกที่มาเป็นแฟนบริษัทหรือธุรกิจของเราไม่ได้สนใจจะซื้อสินค้าหรือบริการ แต่สิ่งที่พวกเขาก็เชื่อมโยงกับบริษัทในทางใดทางหนึ่ง เพราะอย่างน้อยพวกเขาก็ยอมรับว่าเป็น ‘แฟน’ ของเราแล้วไงล่ะ และการทำ Fan Page ก็มีประโยชน์มากมายหลายอย่าง มากกว่าที่เราคาดคิดเลยทีเดียว

    1. Facebook เป็นช่องทางโปรโมตธุรกิจ

     Fan Page ของ Facebook สามารถช่วยในการแบรนดิ้งธุรกิจของเราไปในตัว ซึ่งเราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าอาจมีคนอีกมากมายกลายมาเป็นลูกค้าของเราในอนาคต หรืออาจเป็นคนที่อยากร่วมงานกับเรา นักลงทุน ตลอดจนถึงสื่อที่สนใจในธุรกิจของเรา ไม่ต้องกลัวว่าการมี Fan Page จะยุ่งยากหรือจำกัดเพราะคนที่มี Facebook เท่านั้นถึงจะสามารถเข้าชม Fan Page ของเราได้ เพราะ Fan Page เปิดให้ทุกคนเข้ามาอ่านหรือดูโปรไฟล์ธุรกิจได้โดยที่ไม่ต้องเป็นสมาชิก ดังนั้นผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตจำนวนมากจึงสามารถเข้าถึงข้อมูลสินค้าหรือบริการที่เราต้องการโปรโมตได้อย่างง่ายดาย 

เคล็ดลับ: อัพเดตเนื้อหาจากเว็บไซต์หลักเข้า Fan Page ผ่าน RSS เพื่อเซฟเวลา แต่ระวังอย่าให้มีเนื้อหาที่ชี้ชวนหรือโฆษณาขายจนเกินไป
2. คนเข้าเว็บไซต์มากขึ้น
Facebook อนุญาตให้ใส่ลิงก์เว็บไซต์บริษัทหรือธุรกิจได้ ดังนั้นผู้ที่เข้ามาชมหน้า Fan Page ใน Facebook ซึ่งสนใจและอยากรู้ข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทหรือสินค้าบริการของเรามากขึ้นก็สามารถคลิกลิงก์ไปยังเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของบริษัทได้เลยทันที นอกจากนี้ก็อย่าลืมใส่ Facebook Widget ซึ่งจะช่วยให้คนที่เข้ามายังเว็บไซต์สามารถคลิกเข้าไปเยี่ยมชมและมากด Like เป็นแฟนในหน้า Fan Page ได้เช่นกัน เมื่อเราทำทั้ง 2 อย่างนี้แล้ว ทั้งงเว็บไซต์และ Fan Page ก็จะสามารถช่วยโปรโมตกันและกันได้
เคล็ดลับ: เปลี่ยนสถานะจากผู้ใช้ Facebook เป็นแฟนผลิตภัณฑ์และจากแฟนเป็นลูกค้า ผ่านการโปรโมตเว็บไซต์ด้วย Fan Page และใส่ลิงก์ Fan Page ลงไปในหน้าเว็บไซต์โดยการใช้ Widget
3. เพิ่มประสิทธิภาพในการทำ SEO
การมีเนื้อหาเกี่ยวกับบริษัทของเีรากระจายอยู่ในหลายๆ เว็บไซต์จะช่วยทำให้การค้นหาผ่าน search engine อย่าง Google มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ทำให้คนค้นเจอเว็บไซต์ของเราได้มากและเร็วยิ่งขึ้น นอกจากนี้ Social Search บริการใหม่จาก Google ยังช่วยให้ผู้ค้นหาสามารถอ่านความเห็นที่เกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการของเราได้ทันทีจากหน้าแสดงผลการค้นหา การลิงก์ Fan Page เข้ากับเว็บไซต์หลักจึงเป็นวิธีที่เปี่ยมประสิทธิภาพในการช่วยต่อยอดจำนวนผู้เข้าชมเว็บไซต์ได้อีกทางหนึ่ง
4. สร้างคอมมูนิตี้ผู้บริโภคหรือกลุ่มลูกค้าได้ง่ายและไม่ต้องเสียเงิน
Fan Page ถือเป็นอีกทางเลือกในการทำให้กลุ่มลูกค้าเข้ามามีส่วนร่วมกับเว็บไซต์หลักของสินค้าหรือผลิตภัณฑ์มากขึ้น นอกจากนี้เรายังสามารถโพสต์ข้อความ รูปภาพ วิดีโอ และอื่นๆ ลงบนโปรไฟล์ Facebook เพื่อแชร์ให้บรรดาแฟนๆ ของสินค้าและบริการได้ชมอีกด้วย ที่สำคัญเรายังสามารถพูดคุยกับลูกค้า ถามคำถาม ความคิดเห็น ความพึงพอใจ และอื่นๆ อีกมากมาย ช่วยให้เราสามารถพัฒนาหรือต่อยอดผลิตภัณฑ์ สินค้า หรือบริการจากความคิดเห็นของผู้บริโภคได้อีกด้วย
5. Facebook เข้าถึงกลุ่มลูกค้าโดยตรง
ถ้าสมาชิกคนนั้นเป็นแฟนของ Fan Page เราใน Facebook แล้ว เราก็สามารถส่งข้อความถึงพวกเขาได้โดยตรง ซึ่งเราสามารถเลือกได้ว่าจะส่งให้ใครบ้าง เช่น หากคุณทำกิจกรรมในจังหวัดหนึ่ง เราก็สามารถเลือกส่งข้อความเชิญชวนให้เฉพาะแฟนที่อยู่ในจังหวัดนั้นๆ ให้มาร่วมกิจกรรมชิงรางวัลกับสินค้าหรือบริการของเราได้ และไม่่ใช่แค่พื้นที่เท่านั้น แต่อายุ หรือ เพศ ก็สามารถกำหนดได้เช่นกัน
6. Facebook ช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
การคุยกันหรือแสดงความเห็นเล็กๆ น้อยๆ สามารถทำให้ความสัมพันธ์กับลูกค้าแกร่งขึ้น เพราะเป็นการโต้ตอบกันโดยที่ลูกค้าไม่ได้รู้สึกว่าถูกบีบบังคับให้ซื้อสินค้า แต่เป็นการคุยกันแบบไม่เป็นทางการ ซึ่งจะทำให้ทัศนคติของลูกค้าต่อแบรนด์ดียิ่งขึ้น แม้ว่าจะไม่มีการซื้อขายเกิดขึ้นใน Facebook เลยก็ตาม แต่กว่า 90% ของผู้ใช้ Facebook คาดหวังจะเห็นสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่ตนเองใช้มี Fan Page
7. Facebook ช่วยสร้างพื้นที่ให้ผู้ภักดีต่อแบรนด์ได้บอกต่อ
แม้ผู้ใช้จำนวน 25% จะไม่ชอบป่าวประกาศบอกคนอื่นๆ ว่าตนเองชอบหรือใช้ผลิตภัณฑ์อะไร แต่ผู้ใช้จำนวนที่เหลืออีกมากมายพร้อมจะแนะนำหรือแสดงความชื่นชมสินค้าหรือบริการที่ตนเองประทับใจ รวมถึงบอกต่อไปยังเพื่อนๆ หรือคนรู้จักใน Facebook อีกด้วย
ฉะนั้นการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าชั้นเยี่ยมแบบนี้จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะคนกลุ่มนี้จะช่วยเป็นกระบอกเสียงให้กับสินค้าโดยที่เราไม่จำเป็นต้องเสียเงินค่าโฆษณาด้วยซ้ำ
เคล็ดลับ: การโพสต์ข่าวสารข้อมูลในหน้า Fan Page หรือข้อความต่างๆ ที่เราโต้ตอบกับผู้ใช้งาน Fan Page ก็จะปรากฏบนหน้าอัพเดตของทั้งคุณและแฟนสินค้าคนนั้นด้วย ช่วยเพิ่มโอกาสให้มีคนมาเป็นแฟน Fan Page เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
8. เฝ้าจับตาดูพฤติกรรมของสมาชิก
ในสังคมออนไลน์แบบ Facebook ลูกค้าและผู้บริโภคมักไม่ค่อยตั้งป้อมต่อต้านหรือแสดงอคติต่อการเข้าไปทำการตลาดของแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่ง พวกเขามีแน้วโน้มที่จะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการหรือประสบการณ์ทั้งที่ดีและไม่ดีต่อธุรกิจของเราหรือของคู่แข่ง ซึ่งหากเราให้ความสำคัญหรือใส่ใจในรายละเอียดเหล่านี้และสามารถตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้าได้ เราก็จะได้เปรียบคู่แข่งรายอื่นๆ โดยปริยาย
เคล็ดลับ: Fan Page มาพร้อมหน้าถาม-ตอบอยู่แล้ว เราสามารถใช้ส่วนนี้ให้เป็นประโยชน์ด้วยการสนับสนุนให้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจ เช่น ส่วนที่อยากให้ปรับปรุงสินค้า เป็นต้น
9. Facebook มีเครื่องมือวัดผลที่แม่นยำ
ถ้าอยากรู้ว่า Fan Page ได้รับการตอบรับมากแค่ไหน Facebook ก็มีบริการ Page Insights ซึ่งเป็นเครื่องมือรายงานและวัดสถิติ เช่น มีคนเข้ามาคอมเมนต์หรือโพสต์ข้อความมากน้อยขนาดไหน รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับแฟนๆ ของ Fan Page ด้วยว่าอายุเท่าไร เพศอะไร ภูมิลำเนาอยู่แถวไหน ซึ่งเครื่องมือเหล่านี้จะช่วยให้เราสามารถทำการตลาดโดยเน้นไปยังกลุ่มเป้าหมายได้ถูกต้องมากยิ่งขึ้น
เคล็ดลับ: อย่าลืมนำข้อมูลเหล่านั้นมาใช้ประโยชน์ในการสร้างสารที่เหมาะสมและส่งไปยังกลุ่มลูกค้าที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของสินค้าหรือบริการไดุ้ถูกต้อง เพื่อนำไปสู่เป้าหมายทางการตลาดที่ตั้งไว้
10. ไล่ตามคู่แข่งทัน
ถ้ายังคิดว่า Fan Page ไม่จำเป็นสำหรับธุรกิจอยู่ล่ะก็ ลองมองด้านการแข่งขันดูบ้าง อย่าลืมว่าถ้าคู่แข่งของเราทำ Fan Page ซึ่งมีจำนวนแฟนๆ มากมายและมีการจัดกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับกลุ่มลูกค้าจนความสัมพันธ์เหนียวแน่นจนไม่เหลือที่ว่างให้ธุรกิจของเรา แล้วแบบนี้เราจะมัวรออะไรอยู่อีก เริ่มทำ Fan Page ใน Facebook ตั้งแต่วันนี้เพื่อความได้เปรียบในตลาดและก้าวเป็นหนึ่งในสังคมออนไลน์

ที่มา : http://incquity.com/articles/tech/10-ways-facebook-fan-page-help-business



การตลาดสำหรับธุรกิจที่กำลังฟื้นฟู

       




         สิ่งที่จะช่วยธุรกิจซึ่งอยู่ในภาวะฟื้นฟูกิจการให้กลับมาโลดแล่นและมีสภาพคล่องเหมือนเดิมได้คือการใช้เครื่องมือทางการตลาดเป็นตัวผลักดัน แต่อุปสรรคที่เกิดขึ้นคือการตลาดเป็นเรื่องต้องใช้เงินลงทุนมาก ซึ่งธุรกิจกำลังฟื้นฟูสภาพมักขาดแคลนปัจจัยนี้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ วิธีที่ดีที่สุดคงหนีไม่พ้นการทำการตลาดแบบรัดเข็มขัด ซึ่งจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานได้ค่อนข้างมาก อีกทั้งยังวัดผลได้ในเวลารวดเร็ว โดยวิธีทำการตลาดสำหรับธุรกิจที่กำลังฟื้นฟูมีดังต่อไปนี้ 

         การตลากผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ 

         ข้อดีของการตลาดผ่านสังคมออนไลน์คือเป็นการสื่อสารไปยังกลุ่มคนผู้รับสารเป็นจำนวนมากโดยไม่ต้องเสียเงินเลยแม้แต่บาทเดียว ซึ่งนับวันเครือข่าย Social Media ขยายขนาดและทรงอิทธิพลต่อสังคมไทยมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นการสร้างเครือข่ายสังคมออนไลน์ผ่าน Facebook หรือ Twitter จึงเป็นวิธีทางการตลาดที่น่าสนใจมาก ผู้ประกอบการอาจแจ้งกิจกรรมทางการตลาดที่น่าสนใจ ผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ๆ สินค้าลดราคา เป็นต้น เพื่อให้ข้อมูลข่าวสารดังกล่าวกระจายออกไปคล้ายการตลาดแบบปากต่อปาก ซึ่งช่วยให้คนหันมาสนใจในวงกว้าง การทำการตลาดรูปแบบนี้จะต้องมีศิลปะในการสื่อสารที่ดีพอตัว เพื่อป้องกันข้อครหาในการยัดเยียดข้อมูลไปแก่ผู้บริโภคจนเกินพอดี ซึ่งอาจกลายเป็นผลเสียต่อบริษัทไป

          การตลาดแบบลดราคา

          ไม่มีใครไม่ชอบของถูก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนไทยแล้วเปรียบเสมือนเป็นสิ่งที่อยู่คู่กันมาตั้งแต่ในอดีต การทำการตลาดด้วยวิธีจัดแคมเปญลดราคาจึงเป็นทางเลือกที่ดีมากสำหรับการกระตุ้นยอดขาย แน่นอนว่าลูกค้าจำนวนมากจะแห่แหนมาซื้อสินค้าของผู้ประกอบการเหมือนผึ้งแตกรังเลยก็ได้ ดังนั้นจึงควรเตรียมสถานที่และสินค้าให้พร้อมเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้บริโภค นอกจากนี้การกระจายข่าวสารก็เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องวางแผนให้ดี มิเช่นนั้นการตลาดวิธี้ก็จะประสบความสำเร็จได้ยาก

            การตลาดผ่านอีเวนต์การกุศุล

งานการกุศลเป็นการตลาดแนวกิจกรรมจิตอาสาที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในการกระจายข่าวสารไปสู่สาธารณชน และการจัดงานการกุศลจะช่วยดึงผู้คนจากภาคส่วนต่างๆ ให้มาทำกิจกรรมสร้างประโยชน์เพื่อส่วนรวม ถือเป็นการตลาดที่ช่วยสร้างภาพลักษณ์อันดีให้กับบริษัท และเมื่อบริษัทมีภาพลักษณ์ดี มีความรับผิดชอบต่อสังคมและประเทศชาติ ก็ส่งผลให้ความประทับฝังรากลึกลงในจิตใจของผู้บริโภค ซึ่งจะเป็นผลดีในระยะยาวให้ลูกค้ามีความภักดีต่อแบรนด์เพิ่มมากขึ้น            

             กลยุทธ์ออกบูธการแสดงสินค้า


การออกบูธแสดงสินค้าเป็นกลยุทธ์การตลาดที่ดี เพระนอกจากจะสร้างรายได้จำนวนมากแล้วยังเป็นการประชาสัมพันธ์กิจการของเราด้วย และงานมหกรรมต่างๆ ที่เราไปออกบูธแสดงสินค้าก็เป็นแห่งรวมของคนผู้มีกำลังซื้อสูงอีกด้วย ผู้เข้าชมงานก็พร้อมจะซื้อสินค้าและบริการทันทีด้วย ดังนั้นจึงเป็นโอกาสทองที่ผู้ประกอบการจะเลือกทำการตลาดด้วยการออกบูธแสดงสินค้าเพื่อขายสินค้าและประชาสัมพันธ์กิจการ แถมไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าโฆษณาเชิญชวนอีกด้วย เพราะเจ้าของงานนิทรรศการหรือมหกรรมแสดงสินค้าต่างๆ จะเป็นฝ่ายจัดการเรื่องดังกล่าวให้เอง      
เงินถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยผลักดันให้แผนงานทางการตลาดสำเร็จผล ซึ่งธุรกิจที่อยู่ในภาวะฟื้นฟูจะมีปัญหาค่อนข้างมากในเรื่องเงินทุนที่อาจไม่พอ แต่แนวทางการทำตลาดแบบประหยัดทั้ง 4 อย่างที่เสนอไปอาจสามารถช่วยผู้ประกอบการได้ไม่มากก็น้อยขึ้นอยู่กับการประยุกต์กลยุทธ์การตลาดของผู้ประกอบการเองด้วย



วันพฤหัสบดีที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2555

"กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ" หลักประกันความมั่นคงเพื่อพนักงาน

    




   ผู้ประกอบการและพนักงานกินเงินเดือนประจำทุกคนต่างรู้ดีว่าช่วงเวลาส่วนใหญ่มักหมดไปกับวัยทำงานซึ่งกินระยะเวลายาวนานกว่าครึ่งค่อนชีวิต และพวกเขาก็ทราบดีอีกเช่นกันว่าช่วงเวลาการทำงานนั้นไม่ได้ยืนยาวไปตลอด เพราะเมื่อถึงจุดหนึ่งก็ต้องเกษียณตนเอง ซึ่งบางคนอาจต้องมีเหตุให้ต้องปลดระวางตนเองก่อนจะถึงวัยเกษียณเสียด้วยซ้ำ “กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” จึงเป็นหนึ่งในสวัสดิการที่จำเป็นมากที่ผู้ประกอบการควรมีไว้ให้กับพนักงานทุกคนไม่ว่ากิจการจะมีขนาดเล็กเพียงแค่ค้าขายธรรมดาหรือยักษ์ใหญ่แบบลงทุนข้ามชาติ เพราะกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นหลักประกันที่มีความมั่นคงมาก ถือเป็นสวัสดิการที่ขาดไม่ได้เสียแล้วซึ่งควรมีในบริษัท

     กองทุนสำรองเลี้ยงชีพคืออะไรและจัดตั้งอย่างไร

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพคือกองทุนที่ผู้ประกอบการและพนักงานจัดตั้งขึ้นด้วยความสมัครใจทั้งสองฝ่าย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นหลักประกันให้กับพนักงานในยามเกษียณหรือออกจากงาน ซึ่งพนักงานจะจ่ายเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพไม่ต่ำกว่าร้อยละ 2 แต่ไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินค่าจ้าง (เรียกว่าเงินสะสม) บวกกับเงินจากฝ่ายนายจ้างซึ่งจ่ายสมทบเ้ข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพอีกครึ่งหนึ่ง (เรียกว่าเงินสมทบ) และต้องมีการจัดตั้งคณะกรรมการซึ่งมาจากความยินยอมของทั้งสองฝ่ายเพื่อมาควบคุมและหาบริษัทที่มีความเหมาะสมเพื่อบริหารจัดการเงินกองทุนก้อนดังกล่าวและทำสัญญาว่าจ้างการบริหารงาน จากนั้นจึงไปจดทะเบียนจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพร้อมทั้งบริหารงานและรายงานผลการดำเนินงานให้ทราบเป็นระยะๆ โดยประโยชน์ของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีดังนี้

      เสริมภาพลักษณ์ของบริษัท
      
สวัสดิการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสามารถส่งเสริมภาพลักษณ์การบริหารงานขององค์กรให้มีความเป็นมืออาชีพในด้านการมีส่วนร่วมกันภายในองค์กรได้ เพราะกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นความร่วมมือจากทั้งส่วนของผู้ประกอบและพนักงานในการบริหารเงินกองทุนอย่างเต็มที่ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพจึงเป็นที่ยอมรับจากสังคมและยังเป็นการแสดงออกซึ่งบทบาทความรับผิดชอบที่ตัวผู้ประกอบการตอบแทนกลับคืนไปสู่พนักงาน ซึ่งความรับผิดชอบดังกล่าวเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่บริษัทระดับมืออาชีพพึงกระทำและยังเป็นการยกระดับบริษัทของผู้ประกอบการขึ้นอีกทางหนึ่งด้วย

        สร้างหลักประกันที่มั่นคงให้กับพนักงาน

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพจัดเป็นสวัสดิการที่มีความมั่นคงมากที่สุดอย่างหนึ่งที่ผู้ประกอบการสามารถจะจัดหาให้พนักงานเพื่อแสดงถึงการตอบแทนการทำงานหนักและอุทิศตนของพวกเขาได้ ซึ่งการมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะช่วยให้พนักงานคลายความวิตกกังวลในอนาคตว่ามีจะมีเงินใช้หลังจากเกษียณจากงานหรือต้องออกก่อนเวลาอันสมควร นอกจากนี้ยังช่วยให้พนักงานมีผลการทำงานดีขึ้นด้วยซึ่งเป็นผลจิตวิทยาด้านความมั่นคงทางจิตใจ

        ช่วยให้พนักงานทำงานกับบริษัทนานขึ้น

เป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์เงินเดือนที่มักมองหาสิ่งที่ดีกว่าพร้อมทั้งความมั่นคงในหน้าที่การงานให้กับตนเอง การที่ผู้ประกอบการมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะช่วยทำให้พนักงานมากความสามารถอยู่ทำงานด้วยนานขึ้นจนอาจถึงช่วงวัยเกษียณเลย นอกจากนี้ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพยังเสริมความพยายามทุ่มเททั้งกำลังและสติปัญญาในการทำงานอย่างเต็มที่ตลอดระยะเวลาการทำงานอีกด้วย

         ดึงดูดผู้มีความสามารถ

ในมุมมองของพนักงาน การพิจารณาสมัครเข้าทำงานในบริษัทใดสักแห่งหนึ่งนั้นเรื่องของสวัสดิการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีผลต่อการตัดสินใจค่อนข้างสูง ดังนั้นบริษัทที่มีสวัสดิการกองทุนประเภทนี้จึงมีความได้เปรียบมากกว่าบริษัทที่ไม่มี ผู้คนมักเลือกสมัครงานในบริษัทที่มีสวัสดิการยอดเยี่ยมมากกว่าอยา่งแน่นอน เพราะมองเห็นความมั่นคงในอนาคตที่จะได้รับจากการทำงาน ณ บริษัทแห่งนั้น

          ลดหย่อนภาษีได้


ภาษีเป็นเรื่องใหญ่และหนักหนาสาหัสมากในการทำธุรกิจ ผู้ประกอบการหลายคนจึงหาหนทางและวิธีการเพื่อจะลดหย่อนภาษี ซึ่งการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสามารถให้คำตอบในส่วนนั้นได้ โดยบริษัทที่ทำการจดทะเบียนจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและจ่ายเงินสมทบให้กับพนักงานเป็นประจำสามารถนำไปหักได้ตามค่าใช้จ่ายตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15% ของค่าจ้างในแต่ละระยะเวลารอบบัญชีของบริษัท จึงสามารถลดทอนเรื่องค่าใช้จ่ายในส่วนของภาษีไปได้ส่วนหนึ่ง
ด้วยเหตุผลและผลประโยชน์ต่างๆ ที่ได้กล่าวไปแล้ว การจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจึ่งเป็นสวัสดิการที่ดีซึ่งผู้ประกอบการสมควรสร้างขึ้นในธุรกิจของตนทันที เพราะแม้ว่าผู้ประกอบการคือหัวเรือใหญ่ในการคิดและบริหารงาน แต่ผู้ประกอบการก็ไม่มีทางทำทุกอย่างให้เสร็จสมบูรณ์ได้เพียงลำพังแน่นอน พวกเขาก็ต้องพึ่งพาความสามารถจากพนักงานด้วย และพวกพนักงานต่างก็หวังผลค่าแรงที่เหมาะสมกับความสามารถและสวัสดิการที่ดีเป็นรางวัลตอบแทน กองทุนสำรองเลี้ยงชีพจึงเป็นคำตอบที่ดีที่สุดซึ่งผู้ประกอบการจะสามารถให้ได้เพื่อสร้างความอุ่นใจและความมั่นคงให้กับทั้งพนักงานและบริษัทของตน

ศัพท์และตัวย่อทางการเงินที่ควรรู้






หนึ่งในสถานที่ที่ผู้ประกอบการจะต้องเดินทางไปบ่อยมากที่สุดนอกจากบริษัทของตนเองแล้วก็คงหนีไม่พ้น “ธนาคาร” เพราะการทำธุรกรรมทางการเงินทั้งหมดตั้งแต่เริ่มต้นตั้งธุรกิจจวบจนสิ้นอายุไขของบริษัทจะถูกผูกขาดไว้ที่ธนาคารแทบทั้งสิ้น ธนาคารจึงกลายเป็นหนึ่งในพาร์ทเนอร์คนสำคัญในการทำธุรกิจที่จะต้องร่วมงานด้วย ดังนั้นการศึกษาและทำความเข้าใจในระบบการดำเนินงานของธนาคารโดยเฉพาะพวกคำศัพท์และตัวย่อทางการเงินจึงกลายเป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้ประกอบการจะต้องเรียนรู้และจดจำไว้ให้จงมาก
Incquity ได้ทำการรวบรวมคำศัพท์และตัวย่อทางการเงินของธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์เข้าไว้ด้วยกันเพื่อง่ายต่อการศึกษา ซึ่งเป็น 3 ธนาคารที่ได้รับความนิยมสูงที่สุดในไทย โดยถึงแม้คำศัพท์และตัวย่อของทั้ง 3 ธนาคารจะมีความแตกต่างกันค่อนข้างมากแต่โดยรวมแล้วมันมีความหมายอย่างดียวกัน ซึ่งคำศัพท์และตัวย่อที่น่าสนใจมีดังต่อไปนี้
MLR (Minimum Loan Rate) หมายถึง อัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา ส่วนมากจะให้สำหรับการปล่อยกู้ซื้อบ้านโดยจะมีอัตราดอกเบี้ยถูกกว่าแบบอื่นๆ
MLR+3 หมายถึง ให้หาฐานของดอกเบี้ย MLR ในขณะนั้นเสียก่อน เช่น ดอกเบี้ย MLR ขณะนั้นเท่ากับ 5% ต่อปี ดังนั้นดอกเบี้ย MLR+3(5+3) จึงเท่ากับ 8% ต่อปีนั่นเอง ซึ่งวิธีการนี้สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งกับอัตราดอกเบี้ยแบบ MOR และ MRR แต่จะมีบวกหรือลบหรือไม่นั้นและจะมีเป็นจำนวนเท่าไหร่ขึ้นอยู่กับธนาคารจะเป็นผู้กำหนดขึ้นมาเอง
MOR (Minimum Overdraft Rate) หมายถึง อัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีชนิดเงินกู้เบิกเกินบัญชีขั้นต่ำ
MRR (Minimum Retail Rate) หมายถึง อัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดี
CPR (Consumer Product Rate) หมายถึง อัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำสำหรับสินเชื่อส่วนบุคคล ที่แต่ละธนาคารได้กำหนดออกมา
NPL (Non Performing Loan) หมายถึง สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารพาณิชย์ พูดง่ายๆก็คือหนี้เสียนั่นเอง Credit Bureau หมายถึง ข้อมูลประวัติการชำระสินเชื่อและบัตรเครดิตของประชาชนแต่ละคน
DEP/ PC/ CD หมายถึง การฝากเงินเข้าบัญชีด้วยเงินสดโดยใช้สมุดคู่ฝาก
W/D /CS/CW หมายถึง ถอนเงินสดออกจากบัญชีโดยใช้สมุดคู่ฝาก
NBD / PCN/ C1 หมายถึง การฝากเงินสดเข้าไปในบัญชีโดยไม่ได้ใช้สมุดคู่ฝาก ส่วนใหญ่คือการฝากเงินเข้าบัญชีโดยใช้บัตรเอทีเอ็มผ่านเข้าทางเครื่องรับฝากเงินอัตโนมัติ
NBW / CSN/ C2 หมายถึง การถอนเงินออกจากบัญชีโดยไม่ได้ใช้สมุดคู่ฝาก โดยมากมักหมายความว่าการถอนเงินโดยใช้บัตรเอทีเอ็มผ่านเครื่องถอนเงินอัตโนมัติ
INT /IN /IN หมายถึง ดอกเบี้ยที่ไดรับจากการฝากเงินกับทางธนาคารแห่งนั้น
TX หมายถึง ภาษีที่ถูกหัก
CCB /CC,CL,HC /OD,QD หมายถึง การฝากเงินเข้าบัญชีของตนเองโดยการใช้เช็คเงินสดของธนาคารต่างๆ
RTD /CR /RT หมายถึง เช็คคืนหรือที่ชาวบ้านรู้จักทั่วไปในนามว่าเช็คเด้งนั่นเองอันเกิดจากยอดเงินในบัญชีไม่มีเพียงพอที่จะจ่ายตามที่ถูกระบุไว้ในเช็คนั่นเอง
COR /ER /EC หมายถึง รายการที่ได้รับการแก้ไขให้ถูกต้อง
TRD /TRD /XD หมายถึง การฝากเงินเข้าสู่บัญชีของตนเองด้วยวิธีการโอนมาจากบัญชีอื่นๆ
TRW /TRW /XW หมายถึง การถอนเงินออกจากบัญชีของตนเองด้วยวิธีการโอนออกไปสู่บัญชีอื่นๆ
- /CM /FE หมายถึง ค่าธรรมเนียมในการดำเนินงานของธนาคาร
*หมายเหตุ ตัวย่อเรียงจาก ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย และ ธนาคารไทยพาณิชย์
*โปรดสังเกต ถ้าขึ้นต้นด้วยตัว D มักจะเป็นรายการด้านการฝากแต่ถ้าเป็นตัว W มักจะเป็นรายการทางด้านการถอนเสียเป็นส่วนใหญ่
ถึงแม้ว่าคำศัพท์และชื่อย่อต่างๆเหล่านี้จะสามารถหาดูความหมายได้จากทางอินเตอร์เน็ตและในสมุดบัญชีเงินฝากของทางธนาคารได้ทั่วไป แต่อย่างไรเสียผู้ประกอบการก็สมควรที่จะต้องมีความรู้และท่องจำในสิ่งเหล่านี้เอาไว้บ้าง เพราะข้อมูลคำศัพท์และตัวย่อเหล่านี้คือรายละเอียดอย่างดีที่ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถตรวจสอบแหล่งที่มาและที่ไปของเงินที่เข้ามาสู่บัญชีของท่านได้ จึงนับเป็นเครื่องมือที่ทรงประสิทธิภาพมากในการควบคุมบัญชีของทางบริษัท ที่ผู้ประกอบการส่วนมากมักจะละเลยในส่วนเล็กๆตรงจุดนี้และมักเป็นที่มาให้เงินในบริษัทมักรั่วไหลออกไปเป็นประจำนั่นเอง

วิธีแก้ไขปัญหาการขาดแคลนสภาพคล่องในการชำระหนี้สิน






คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าเงินเป็นปัจจัยการทำธุรกิจที่ทรงคุณค่ามากที่สุด การจัดหาเงินทุนเข้ามาเติมเต็มในระบบจึงเปรียบเสมือนเป็นการต่อลมหายใจเข้าออกให้กับธุรกิจเลยก็ว่าได้ ซึ่งหนึ่งในวิธียอดนิยมที่เหล่าบรรดานักธุรกิจทั้งหน้าเก่าและใหม่นิยมทำกันมากที่สุดคงเห็นจะหนีไม่พ้น “การกู้เงิน” จากสถาบันการเงิน เพราะมันเอื้อประโยชน์ให้กับการทำธุรกิจมากกว่าการควักกระเป๋าตังค์ตัวเองเป็นไหนๆ
แต่นั่นก็ใช่ว่าการกู้เงินจะนำพามาซึ่งความสุขและกลีบกุหลาบเสมอไป เพราะบางครั้งหากผู้ประกอบการมีวิธีบริหารการเงินที่ย่ำแย่มันอาจกลับกลายเป็นฝันร้ายสำหรับการทำธุรกิจก็เป็นได้ ซึ่งนั่นหมายถึงการกลายสภาพจากผู้ประกอบการมาเป็นลูกหนี้ที่ขาดส่งเงินให้กับเจ้าหนี้นั่นเอง ดังนั้นเราจึงมีวิธีจัดการดีๆมาฝากผู้ประกอบการที่กำลังประสบปัญหาการขาดสภาพคล่องในการชำระหนี้สินอยู่ในขณะนี้ โดยวิธีการที่เราได้ทำการรวบรวมมามีดังต่อไปนี้
เจรจาประนีประนอมกับเจ้าหนี้
ปัญหาทุกอย่างสามารถแก้ไขได้หากทุกคนหันหน้าเข้าพูดคุยกันซึ่งวิธีการนี้ก็สามารถนำมาปรับใช้กับการแก้ไขปัญหาการค้างชำระหนี้สินทางธุรกิจได้ โดยผู้ประกอบการจะต้องเข้าใจก่อนว่าหนี้สินที่มีอยู่ในปัจจุบันนั้นมีจุดเริ่มต้นจากที่ตัวผู้ประกอบการเอง และผู้ประกอบการก็ต้องเป็นผู้รับผิดชอบผลของการกระทำดังกล่าวด้วย ดังนั้นการเจรจาพูดคุยขอประนอมหนี้จึงเป็นวิธีการอย่างแรกที่ควรจะต้องกระทำมากที่สุด เพื่อขอความอนุเคราะห์ในการยืดเวลาการชำระหนี้ออกไป หรือลดจำนวนทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยที่จะส่งให้ อีกทั้งยังเป็นการแสดงความบริสุทธิ์ใจและป้องกันมิให้ปัญหาบานปลายไปสู่กระบวนการทางกฎหมายนั่นเอง
ยอมชำระค่าปรับ
หากผู้ประกอบการไม่สามารถหาเงินมาชำระหนี้ได้ตามเวลาที่กำหนด การยอมรับและเสียค่าปรับในอัตราที่กำหนดคือหนึ่งในวิธีการที่สามารถพึงกระทำได้ แต่ทั้งนี้ก็ต้องยอมรับว่าส่วนใหญ่ค่าปรับที่ใช้คิดสำหรับการผิดนัดชำระเงินมักจะคิดในอัตราที่ค่อนข้างสูงมาก ดังนั้นผู้ประกอบการจะต้องวางแผนทางการเงินให้รอบคอบหากคิดจะใช้วิธีนี้ในการแก้ปัญหาทางการเงินของบริษัท
ขอส่งดอกเบี้ยอย่างเดียว
บางครั้งผู้ประกอบการอาจจะยังไม่มีเงินครบเต็มจำนวนเงินต้นที่จะต้องชำระจริงในแต่ละงวดอันมีสาเหตุที่มาจากการติดขัดบางประการ เมื่อเป็นเช่นนี้ผู้ประกอบการก็สามารถยื่นความจำนงไปยังสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้เพื่อขอเจรจาส่งดอกเบี้ยทดแทนเงินต้นที่ต้องชำระไปก่อนก็ได้ แต่ทั้งนี้จะต้องได้รับความยินยอมพร้อมใจจากทางฝั่งเจ้าหนี้ด้วยวิธีการนี้จึงจะได้ผล
ยืดเวลาการชำระหนี้
การยืดเวลาชำระหนี้หรือที่เรียกว่า Extension นั้นเป็นหนึ่งในวิธีการที่ได้รับความนิยมมาก โดยผู้ประกอบการจะต้องเข้าไปดำเนินการเจรจากับเจ้าหนี้ด้วยตนเองเพื่อขอให้เขายืดเวลาการชำระหนี้ของผู้ประกอบการให้ยาวนานขึ้น ซึ่งข้อดีของวิธีนี้คือจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถปรับโครงสร้างหนี้ของตนเองให้มีสภาพคล่องมากขึ้นได้ แต่ทั้งนี้วิธีการนี้จะต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าหนี้ด้วย ซึ่งส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยมีปัญหาเนื่องจากเจ้าหนี้ยังคงได้รับเงินคืนจากที่กู้ไปเต็มจำนวนอยู่แถมยังได้รับเงินส่วนต่างจากดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอีกด้วย
รีไฟแนนซ์ (Refinance)
บางครั้งการที่ธุรกิจของผู้ประกอบการประสบปัญหาขาดสภาพคล่องในการผ่อนชำระหนี้สินอาจจะมีที่มาส่วนหนึ่งจากสัญญาการกู้เงินฉบับปัจจุบันที่ค่อนข้างจะรัดตัวมากเกินไปก็เป็นได้ การรีไฟแนนซ์จึงเป็นอีกวิธีที่น่าสนใจ โดยผู้ประกอบการจะต้องพิจารณาทางเลือกของข้อเสนอทางการเงินที่ดีขึ้นกว่าสัญญาฉบับปัจจุบันที่มาจากสถาบันทางการเงินต่างๆซึ่งในที่นี้อาจรวมถึงสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้รายปัจจุบันด้วย แล้วจึงเลือกทำข้อตกลงกับข้อเสนอที่ดีที่สุดโดยขอให้ผู้ประกอบการเลือกพิจารณาในข้อเสนอที่จะสามารถช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนของอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงระหว่างของเก่าและของใหม่ว่ามันคุ้มค่ากับค่าใช้จ่ายในการรีไฟแนนซ์หรือไม่ด้วย
แลกเปลี่ยนด้วยหุ้นและสิทธิบริหาร
แต่ถ้าหากผู้ประกอบการไม่สามารถชำระหนี้ได้จริงๆและวิธีการที่เสนอไปก่อนหน้านี้ก็ไม่ได้ผล ขอแนะนำให้ผู้ประกอบการลองยื่นข้อแลกเปลี่ยนด้วยสิ่งที่มีค่ามากที่สุดนั่นก็คือกรรมสิทธิการถือหุ้นของบริษัท โดยทั้งนี้ผู้ที่เป็นเจ้าหนี้จะเป็นผู้พิจารณาดูเองว่าการเข้ามาถือหุ้นธุรกิจในบริษัทของผู้ประกอบการนั้นมันคุ้มค่ากับเงินกู้ที่เขาได้เสียไปก่อนหน้านี้หรือไม่ ผู้ประกอบการจึงควรต้องยื่นขอเสนอในเรื่องการแลกเปลี่ยนหุ้นเพื่อชดเชยหนี้สินที่บริษัทมีให้ดีที่สุดด้วย
ขอเลิกกิจการ
บางครั้งการกล้ำกลืนฝืนทนกับอะไรบางสิ่งบางอย่างที่ดูไม่มีอนาคต มันเหมือนจะเป็นการสู้ไปโดยเปล่าประโยชน์และอาจจะทำให้ผู้ประกอบการเจ็บตัวเพิ่มมากขึ้นไปอีก ดังนั้นการปิดกิจการและนำทรัพย์สินออกขายทอดตลาดก็ดูจะเป็นทางออกที่น่าจะดีที่สุดสำหรับธุรกิจที่ไม่มีที่เดินในวันนี้อีกแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่เจ้าของเงินกู้มักจะไม่มีปัญหาในส่วนนี้เพราะพวกเขาจะได้เงินต้นพร้อมดอกเบี้ยคืนในเวลาที่รวดเร็วมากขึ้นและไม่มีวันจะขาดทุนโดยเด็ดขาด อันเนื่องจากพวกเขาได้ทำการประเมินทรัพย์สินของทางบริษัทเอาไว้ล่วงหน้าก่อนที่จะอนุมัติเงินกู้ไว้แล้วนั่นเอง
ความจริงแล้วการขาดสภาพคล่องในการชำระหนี้สินถือเป็นปัญหาที่พบเห็นกันได้บ่อยมากในการทำธุรกิจ ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นปัญหาไม่ได้อยู่ตรงที่หนี้สินที่คุณมีแต่ประเด็นของมันจริงๆแล้วอยู่ตรงที่คุณหาเงินเข้ามาได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น ดังนั้นก่อนที่จะทำสัญญากู้เงินแต่ละครั้งขอให้ผู้ประกอบการคิดและวางแผนทางการเงินอย่างรอบคอบโดยมองไปที่อนาคตเป็นหลักด้วย การกู้เงินจึงจะแปรเปลี่ยนมาเป็นการสร้างผลกำไรเพื่อการเติบโตให้กับธุรกิจในอนาคตได้อย่างคุ้มค่า


4 กุญแจที่สำคัญที่ช่วยในการเพิ่มเงินทุนให้บริษัท






ผู้ประกอบการทุกคนจะรับรู้ตรงกันว่าเงินทุนกับการดำเนินธุรกิจสำคัญต่อกันมากเพียงไร แน่นอนว่าหากเกิดสถานการณ์คับขัน ผู้ประกอบการก็มิอาจแสวงหาความช่วยเหลือจากบุคคลอื่นได้เสมอไป ทั้งนี้คุณคิม คิโยสากิ (Kim Kiyosaki) นักธุรกิจหญิงชาวญี่ปุ่นผู้ประสบความสำเร็จมากได้ให้คำแนะนำเรื่องการเพิ่มเงินทุนให้กับบริษัทด้วยตนเอง แต่ก่อนจะไปถึงขั้นตอนเหล่านั้น ผู้ประกอบการต้องตอบโจทย์และดำเนินการในสองสิ่งต่อไปนี้เสียก่อน
สำรวจความต้องการของลูกค้าหรือนักลงทุน
ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ประกอบการต้องตอบคำถามบรรดาลูกค้าและนักลงทุนให้ได้ว่า หากพวกเขาหยิบยืมเงินมาลงทุนแล้วจะได้อะไรเป็นการตอบแทน เพราะเป็นเรื่องปกติที่นักลงทุนต้องการจะรู้ผลตอบแทนจากการให้เงินไปลงทุน เทคนิคที่แนะนำคือให้ผู้ประกอบการกำหนดตัวเลขคร่าวๆ ให้ดูว่าจะได้รับเงินตอบแทนคืนมากี่บาทต่อเงินลงทุน 1 บาท หรือบอกเป็นเปอร์เซ็นต์ก็ได้ เพราะลูกค้าและนักลงทุนต่างชื่นชอบตัวเลขมากกว่าการโฆษณาด้วยคำพูดเป็นไหนๆ
กล่อมเกลาด้วยการนำเสนองาน
หลังทราบความต้องการของลูกค้าหรือนักลงทุนก็มาถึงเรื่องการนำเสนองานและโครงการ ขอแนะนำผู้ประกอบการนำเสนองานให้ตรงประเด็นและกระชับมากที่สุดเพื่อไม่เป็นการบีบคั้นลูกค้าหรือนักลงทุนจนก่อให้เกิดความน่ารำคาญ ที่สำคัญขอให้เน้นผลตอบแทนที่พวกเขาจะได้รับตอบแทนจากการลงทุนในครั้งนี้ด้วย เมื่อทำครบตามที่กล่าวมาทั้ง 2 ขั้นตอนไปแล้ว ส่วนต่อมาก็คือปฏิบัติตาม 4 กุญแจสำคัญที่จะช่วยเพิ่มเงินทุนให้บริษัทตามที่คุณคิมได้แนะนำเอาไว้
1.โครงการ
โครงการของผู้ประกอบการต้องน่าสนใจ และที่สำคัญข้อเรียกร้องของผู้ประกอบการต้องไม่มากเกินจนนักลงทุนไม่กล้ารับความเสี่ยง ทั้งนี้หัวใจหลักคือตัวโครงการต้องมีความน่าสนใจ เหมาะสมกับการทำธุรกิจ และที่สำคัญต้องได้เปรียบทางการตลาดด้วย การนำเสนอความแปลกใหม่และไม่ซ้ำซากกับธุรกิจที่มีอยู่แล้วในท้องตลาดน่าจะเป็นการแก้เกมที่ดีที่สุด เพราะจะช่วยดึงดูดเม็ดเงินในการลงทุนมาสู่ผู้ประกอบการได้รวดเร็วขึ้น
2.พันธมิตรทางธุรกิจ
ถ้าต้องการเพิ่มเงินทุนให้กับบริษัทการมีพันธมิตรทางธุรกิจถือเป็นสิ่งจำเป็นที่อย่างหนึ่งของผู้ประกอบการ เพราะความรู้ความเชี่ยวชาญบวกประสบการณ์ของพวกเขาจะเป็นแม่เหล็กช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นในใจของนักลงทุนได้โดยตรง ทั้งยังทำให้การตัดสินใจของนักลงทุนในการเข้ามาร่วมธุรกิจเกิดความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับพื้นฐานทางสังคมธุรกิจของพันธมิตรธุรกิจของผู้ประกอบการด้วยว่ามีความเป็นมืออาชีพมากขนาดไหน
3.จัดหาเงิน
ดังที่ได้กล่าวไปว่าสิ่งที่นักลงทุนต้องการเห็นมากที่สุดก็คือตัวเลขทางการเงินที่มีความเที่ยงตรงและเป็นไปได้จริง ไม่ใช่การคาดการณ์ตัวเลขคร่าวๆ โดยตัวเลขทางการเงินนี้ต้องบอกรายละเอียดทุกอย่างของการลงทุนพร้อมแสดงค่าตอบแทนที่จะได้รับ เช่น จำนวนเงินที่มีอยู่ ที่มาของเงิน เงินที่ต้องใช้ในโครงการ ใช้จ่ายอะไรบ้าง กู้ยืมมาเท่าไร อัตราดอกเบี้ยเท่าไร แบ่งจ่ายกี่งวด งวดละเท่าไร ผลตอบแทนเท่าไร ฯลฯ ข้อมูลเหล่านี้คือสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องแจ้งให้นักลงทุนทราบทั้งหมด ซึ่งยิ่งผู้ประกอบการแจ้งตัวเลขที่มีความละเอียดมากเท่าไร ก็จะยิ่งได้รับเงินทุนเร็วขึ้นเท่านั้น
4.บริหารและจัดการ
นักลงทุนไม่ใช่คนประเภทที่ว่าจ่ายเงินเสร็จก็จบแล้วไปนั่งรอรับผลตอบแทนอยู่บ้าน พวกเขาจะคอยเข้ามากำกับดูแลการใช้เงินของผู้ประกอบการตลอดเวลาว่าเงินเหล่านั้นนำไปทำอะไรบ้าง มอบหมายให้ใครดูแลจัดการ ใครคือผู้บริหารโครงการ ชนิดที่ว่าต้องการรายละเอียดแบบวันต่อวันเลยทีเดียว ดังนั้นผู้ประกอบการต้องบริหารจัดการเงินทุนทางธุรกิจให้ดีที่สุดเพื่อผลประโยชน์ในการทำธุรกิจ และอาจช่วยให้ผู้ประกอบการได้เงินลงทุนเพิ่มเติมในอนาคตด้วย
สิ่งที่เป็นตัวชี้วัดว่าการขอเพิ่มเงินทุนบริษัทจะประสบความสำเร็จหรือไม่ประกอบไปด้วยปัจจัยหลายประการ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือจำนวนเงินตอบแทนที่ผู้ประกอบการสามารถให้คืแก่นักลงทุน ดังนั้นผู้ประกอบการต้องรู้และเข้าใจนักลงทุนว่าต้องการสิ่งใด แล้วจึงเขียนโครงการที่สามารถตอบสนองความต้องการของเหล่านักลงทุนให้ได้ หากทำได้ตามนี้แล้ว การเพิ่มเงินทุนให้กับธุรกิจก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

เงินทุนในการทำธุรกิจมาจากไหนได้บ้าง






บ่อยครั้งที่คำว่า “ไม่มีเงิน” ถูกใช้เป็นข้ออ้างที่สกัดการเริ่มต้นทำธุรกิจเป็นของตัวเอง เป็นต้นว่าไม่มีทุนบ้าง ไม่มีแหล่งทุนบ้าง และทำให้หลายคนเลือกพับเก็บความคิดที่จะเริ่มต้นธุรกิจเอาไว้ แต่ในความจริงแล้วธุรกิจหลายรูปแบบใช้เงินทุนในการเริ่มตั้งกิจการไม่มากเลย โดยจุดสำคัญในการเริ่มต้นธุรกิจน่าจะอยู่ที่การสร้างผลิตภัณฑ์ที่ดีและตรงความต้องการของลูกค้า มีแนวทางการบริหารและการตลาดที่แข็งแรงขึ้นมาให้ได้ก่อน หลังจากที่เริ่มมีโมเดลธุรกิจที่ชัดเจนและมีจุดเด่นน่าสนใจแล้วการจะออกไปหาเงินทุนเพิ่มเติมเพื่อต่อยอดให้ธุรกิจเติบโตต่อเนื่องก็น่าจะเป็นเรื่องง่ายขึ้นและการทำธุรกิจก็เป็นเรื่องที่เป็นไปได้สูงขึ้น
เมื่อผ่านจุดตั้งต้นธุรกิจมาได้แล้ว จึงถึงเวลาเริ่มมองหาทุนเพื่อขยายกิจการและเร่งการผลิตให้ทันต่อการแข่งขันในตลาด แต่ด้วยความที่ธุรกิจยังอยู่ในจุดเริ่มต้น ยังไม่เป็นที่รู้จัก จึงเป็นเรื่องที่ยากมากที่จะระดมทุนด้วยการยื่นเสนอขายหุ้นในตลาด อย่างไรก็ดี ยังมีแหล่งทุนอื่นๆ ที่เข้าถึงได้และสามารถช่วยธุรกิจขนาดกลางและย่อมที่เพิ่มเริ่มต้นอยู่พอสมควร ตั้งแต่คนใกล้ตัวที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเราเช่นคุณพ่อคุณแม่ หรือแหล่งเงินทุนที่เป็นองค์กรอย่างธนาคารและนักลงทุน

ธนาคารพาณิชย์ถือเป็นแหล่งเงินทุนอันดับต้นๆ ที่เรามักนึกถึง เนื่องจากพบได้ทั่วไปและมีโปรโมชั่นออกมาเป็นจำนวนมาก แต่การขอสินเชื่อจากธนาคารก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเสียทีเดียว เพราะธนาคารก็จะต้องพิจารณาความน่าเชื่อถือและโอกาสในการเติบโตของธุรกิจก่อนจึงจะอนุมัติให้สินเชื่อ โดยแผนส่วนใหญ่จะกำหนดคุณสมบัติของผู้กู้ต้องมีประสบการณ์ในด้านธุรกิจที่เกี่ยวข้องมาแล้ว 1-3 ปี ซึ่งน่าจะเป็นหลักประกันว่าผู้ประกอบการรู้จักธุรกิจนั้นๆ ดีในระดับหนึ่ง อีกทั้งหลายธนาคารก็มีข้อบังคับว่าผู้ประกอบการจะต้องนำเสนอแผนธุรกิจที่ชัดเจนและเป็นไปได้ก่อนการขออนุมัติสินเชื่อด้วย ดังนั้นการกู้ผ่านธนาคารอาจเหมาะกับเจ้าของกิจการที่ดำเนินงานมาสักระยะเกิน 1 ปีขึ้นไป ซึ่งจุดประสงค์ของการให้สินเชื่อก็เพื่อเพิ่มความคล่องตัวของเงินทุนหมุนเวียนและเพื่อการขยายตัวของกิจการ
เมื่อเราตัดสินใจจะกู้เงินจากธนาคารแล้ว เราต้องศึกษาในรายละเอียดว่าในแต่ละแผนกำหนดให้ต้องเตรียมนำเสนออะไรบ้าง อาทิ คนค้ำประกัน หรือเครื่องค้ำประกันอื่นๆ เช่น สิ่งปลูกสร้าง สัญญาเช่าอาคาร แผนพัฒนาธุรกิจ เป็นต้น และธนาคารส่วนใหญ่มักขอดูเอกสารสำคัญของบริษัท เช่น หนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัท เอกสารภาษี ซึ่งการเตรียมการให้พร้อมก็เป็นสิ่งสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นให้ธนาคารอีกทางหนึ่ง
ธนาคารได้ผนวกบทบาทเป็นผู้ให้องค์ความรู้แก่
ผู้ประกอบการ ประคองให้กิจการเดินหน้าไปได้ รวมทั้งสร้างเครือข่ายธุรกิจ
นอกเหนือจากบทบาทแหล่งเงินทุนสินเชื่อแล้ว ช่วงหลังๆ ธนาคารต่างๆ ก็เริ่มเข้ามามีบทบาทในการช่วยสนับสนุนช่วงเริ่มต้นและช่วงการเติบโตอย่างแข็งแกร่งของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมมากขึ้น โดยธนาคารได้ผนวกบทบาทเป็นองค์กรให้องค์ความรู้ผู้ประกอบการ ประคับประคองให้กิจการเดินหน้าไปได้ รวมทั้งสร้างเครือข่ายธุรกิจ อย่างเช่นโครงการ K SME Care ของธนาคารกสิกรไทย ซึ่งให้เจ้าของกิจการไม่ว่าจะเป็นลูกค้าของธนาคารหรือไม่สามารถเข้าร่วมโครงการเพื่อเข้าอบรม รวมทั้งเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และมุมมองทางธุรกิจกับเครือข่ายผู้ประกอบการรายอื่นๆ ด้วย

สิ่งที่นักลงทุนจะได้รับจากการลงทุนในธุรกิจหนึ่ง
ขึ้นอยู่กับการเติบโตและ
ผลประกอบการของบริษัทเป็นหลัก ทำให้นักลงทุนมักจะเป็นผู้ให้ความรู้และแนวทางในการดำเนินธุรกิจ หรือบางรายอาจส่งคนจากทีมเข้ามาบริหารงาน
สำหรับแหล่งทุนจากนักลงทุนจะมีวัตถุประสงค์การให้ทุนที่ต่างจากธนาคาร กล่าวคือธนาคารจะได้ประโยชน์จากการให้สินเชื่อโดยเก็บดอกเบี้ยจากผู้ขอสินเชื่อเป็นงวดๆ ไป ในขณะที่นักลงทุนจะมุ่งหวังการครอบครองหุ้นหรือกรรมสิทธิ์ในบริษัท นั่นหมายความว่าสิ่งที่นักลงทุนจะได้รับจากการลงทุนในสักธุรกิจหนึ่งจึงต้องขึ้นอยู่กับการเติบโตและผลประกอบการของบริษัทเป็นหลัก ทำให้นักลงทุนมีอีกลักษณะที่แตกต่างจากธนาคาร คือมักจะเป็นผู้ให้ความรู้และแนวทางในการดำเนินธุรกิจ หรือบางรายอาจส่งคนจากทีมเข้ามาบริหารงานในธุรกิจ
โดยหลักๆ แล้วมีนักลงทุนอยู่ไม่กี่ประเภท ประเภทแรกคือนักลงทุนรายบุคคล หรือที่เรียกว่า angel investor และนักลงทุนระดับองค์กร venture capitals หรือที่เรียกกันบ่อยๆ ว่า VC ซึ่งที่จริงแล้วนักลงทุนทั้งสองประเภทนี้เป็นที่นิยมในบรรดาธุรกิจ startup ต่างประเทศเสียมาก และยังไม่ค่อยมีนักลงทุนประเภทนี้ในประเทศไทยมากนัก

angel investor สามารถเป็นใครก็ได้ ส่วนใหญ่มักเป็นนักลงทุนรายบุคคลทั่วไปที่มีความสนใจในเรื่องต่างๆ แตกต่างกันไป
สำหรับนักลงทุนประเภทนี้เป็นนักลงทุนอิสระที่สามารถให้ทุนเราได้โดยทันที ไม่ต้องมีแบบแผนในการยื่นขอทุนมากมาย เนื่องจากเป็นการติดต่อกับตัวบุคคลโดยตรงและทุนที่ให้ก็มักเป็นเงินทุนส่วนตัว การตัดสินใจให้ทุนก็มักอาศัยความเชื่อมั่นระหว่างกันเสียมาก ขณะเดียวกัน angel investor ก็มักจะเน้นน้ำหนักให้ความสำคัญกับแนวคิดธุรกิจที่น่าสนใจมากกว่าที่จะเน้นเรื่องผลตอบแทนในการลงทุน แต่ก็ใช่ว่าจะไม่สนใจเรื่องผลตอบแทนเลย อันที่จริง angel investor ก็อาจขอผลตอบแทนเป็นสิทธิ์ในการถือหุ้น ส่วนเรื่องการบริหารงานในธุรกิจ angel investor มักจะไม่ค่อยเข้ามาก้าวก่ายการบริหารงานมากนัก มักจะปล่อยให้เจ้าของไอเดียเป็นคนบริหารให้ธุรกิจเดินหน้าไปได้ แต่มักจะเข้ามามีบทบาทเป็นผู้ให้คำปรึกษาและคำแนะนำมากกว่า
angel investor สามารถเป็นใครก็ได้ ส่วนใหญ่มักเป็นนักลงทุนรายบุคคลทั่วไปที่มีความสนใจในเรื่องต่างๆ แตกต่างกันไป นอกจากจะให้ทุนแล้ว angel investor ยังสามารถให้ความช่วยเหลือด้านอื่นๆ เช่นให้ความรู้ สอนประสบการณ์ที่เคยผ่านมา ยิ่งไปกว่านั้นยังอาจช่วยแนะนำให้เราได้รู้จักบุคคลอื่นๆ ที่เป็นสามารถเป็นแหล่งทุนให้เราได้อีกด้วย

VC เป็นนักลงทุนในรูปแบบองค์กร หรืออาจเรียกว่าเป็นองค์กรที่ประกอบขึ้นมาจากนักลงทุนหลายๆ คนรวมตัวกัน มีการรวมเงินลงทุนเป็นก้อนเดียวและบริหารจัดการว่าจะนำเงินลงทุนก้อนใหญ่นั้นไปแบ่งลงทุนกับธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตสูงอย่างไรบ้าง จึงอาจกล่าวได้ว่า VC อาจพิจารณาให้เงินทุนในจำนวนที่สูงกว่า angel investor ส่วนใหญ่ และเหมาะสำหรับกิจการที่ต้องการเงินก้อนใหญ่
โดยหลักๆ VC จะมุ่งหวังกำไรจากการลงทุนอย่างมาก และมองข้ามขั้นไปจนถึงว่าสามารถขายต่อกิจการของเราเพื่อเก็งกำไรในตลาดหุ้นได้
โดยหลักๆ VC จะมุ่งหวังกำไรจากการลงทุนอย่างมาก และมองข้ามขั้นไปจนถึงว่าสามารถขายต่อกิจการของเราเพื่อเก็งกำไรในตลาดหุ้นได้ ด้วยเหตุนี้ VC จึงมักส่งคนเข้ามาบริหารกิจการ เพื่อกำกับดูแลให้ธุรกิจของเราเติบโตได้ตามคาดหวัง รวมทั้งช่วยให้ความรู้และคำปรึกษาในเรื่องการบริหารธุรกิจด้วย สำหรับระดับการลงทุนของ VC มีตั้งแต่ขั้นเริ่มต้นธุรกิจ ขั้นขยายกิจการ ระยะก่อนการเสนอขายหุ้นแก่สาธารณะชนเป็นครั้งแรก (IPO) หรือแม้แต่ระยะพลิกฟื้นธุรกิจ
อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุที่ว่า VC ให้ความสำคัญเกี่ยวกับกำไร และธรรมชาติของกลุ่มที่ประกอบด้วยนักลงทุนหลายคน การตัดสินใจก่อนอนุมัติให้ทุนจึงใช้เวลาและความรอบคอบอย่างมาก เพื่อให้แน่ใจว่าหากให้ทุนไปแล้วจะไม่สูญเปล่าและได้ผลตอบแทนกลับมาเต็มที่ ดังนั้นการขอทุนจาก VC จึงต้องมีเตรียมตัวนำเสนอธุรกิจอย่างมีระบบแบบแผนที่ชัดเจนและน่าสนใจ ต้องเตรียมเอกสารที่เป็นลายลักษณ์อักษร และที่สำคัญที่สุดคือต้องสามารถอธิบายขั้นตอนและแบบแผนการทำธุรกิจได้อย่างสร้างสรรค์และมีหลักการ จนนักลงทุนกลุ่มนี้สามารถมองเห็นโอกาสที่ชัดเจน และตกลงปลงใจที่จะให้เงินเราในท้ายที่สุด

สรุปภาวะเศรษฐกิจ




  
ข้อมูลเดือนกุมภาพันธ์ 2555 จากตารางภาวะเศรษฐกิจและการเงิน จะเห็นว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคมีค่าเพิ่มขึ้น ในขณะที่ภาคการผลิตมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากภาคการผลิตสามารถกลับมาเดินเครื่องในการผลิตได้เป็นที่เรียบร้อย ส่งผลทำให้การผลิตมีการขยายตัวได้สูงขึ้น ในขณะที่ดุลการค้ามีค่าเป็นบวก เพราะการส่งออกเริ่มกลับมาขยายตัวได้มากขึ้น ในขณะเดียวกันภาวะการเงินยังทรงตัวไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงมากนัก โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

1. ดัชนีราคาผู้บริโภค
           จากตารางภาวะเศรษฐกิจและการเงิน จะเห็นว่าดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนกุมภาพันธ์มีค่า 113.6 มีค่าเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนมกราคมที่มีค่า 113.2 เพราะสินค้าในหมวดอาหารยังมีราคาที่ทรงตัวไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเท่าไรนัก ในขณะที่ราคาน้ำมันมีการปรับตัวไปในทิศทางที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตามยังมีมาตรการภาครัฐในการช่วยทำให้ดัชนีราคาผู้บริโภคไม่ให้ปรับตัวสูงขึ้นไปมากเท่าไรนัก ซึ่งก็ต้องมีการติดตามในเรื่องของราคาน้ำมัน เพราะยังมีความไม่แน่นอนอย่างต่อเนื่อง และอาจจะส่งผลต่อดัชนีราคาผู้บริโภคได้อย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนกุมภาพันธ์จึงมีค่าเพิ่มขึ้นมาเมื่อเทียบกับเดือนมกราคมตามตารางที่ปรากฏ

2. ภาวะการผลิต
          จากดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมและอัตราการใช้กำลังการผลิตในตารางภาวะเศรษฐกิจและการเงิน จะเห็นได้ว่าดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนกุมภาพันธ์มีค่า 180.85 เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคมที่มีค่า 165.97  และอัตราการใช้กำลังการผลิตในเดือนกุมภาพันธ์มีค่าร้อยละ 64.93 เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคมที่มีค่าร้อยละ 59.79 โดยสาเหตุที่ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมและอัตราการใช้กำลังการผลิตมีค่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการต่างๆ สามารถเดินเครื่องการผลิตได้เป็นที่เรียบร้อยภายหลังจากที่ปัญหาอุทกภัยได้คลี่คลายไปทั้งหมดแล้ว ทำให้มีการเร่งนำเข้าปัจจัยการผลิตเข้ามาผลิตสินค้าอย่างต่อเนื่องหลังจากที่ได้มีการชะลอตัวลงไปในช่วงก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการจำเป็นต้องติดตามในเรื่องของราคาน้ำมันอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันความผันผวนที่จะเกิดขึ้น และควรจะต้องเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ เพื่อรองรับความเสี่ยง และเตรียมแผนรองรับสถานการณ์ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของต้นทุนราคาน้ำมันและความผันผวนของค่าเงินบาทด้วย ซึ่งจากปัจจัยดังกล่าวส่งผลทำให้ภาวะการผลิตในเดือนนี้มีการปรับตัวสูงขึ้นมาเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนที่แล้ว
3. ภาวะการค้า
           ดุลการค้าในเดือนกุมภาพันธ์มีค่า 2,052.33 จะเห็นว่าเพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคมที่มีค่า 522.27 และดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือนกุมภาพันธ์มีค่า 1,091.86 เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคมที่มีค่า 980.83 จะเห็นได้ว่าดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดมีค่าเพิ่มขึ้น โดยดุลการค้ามีค่าเป็นบวก เนื่องจากการส่งออกมีการขยายตัวได้สูงมากขึ้น เพราะผู้ผลิตสินค้าได้เร่งส่งสินค้าออกเพิ่มมากขึ้น หลังจากที่การผลิตสินค้าได้มีการชะลอตัวลงไป  ซึ่งเป็นผลมาจากปัญหาอุทกภัย จึงทำให้ดุลการค้ากลับมาปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นได้อีกครั้ง ในขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดก็ยังมีค่าเป็นบวกอยู่ เนื่องจากมีเงินไหลเข้ามาในประเทศอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามยังมีความจำเป็นต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจต่างๆ อย่างใกล้ชิด ทั้งในเรื่องของค่าเงินบาทรวมไปถึงยังมีปัจจัยลบอื่นๆ ที่เป็นปัญหาสำคัญที่อาจทำให้เศรษฐกิจของประเทศเกิดการชะลอตัว และจากปัจจัยต่างๆ ดังที่ได้กล่าวไปแล้วทำให้ภาวะการค้าในเดือนนี้มีค่าเพิ่มขึ้นมาเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า

4. ภาวะการเงิน
          ตารางภาวะเศรษฐกิจและการเงินแสดงได้ว่า เงินฝากเดือนมกราคมมีค่า 8,085.48 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคมที่มีค่า 7,990.82 พันล้านบาท และเงินให้สินเชื่อในเดือนมกราคมมีค่าเป็น 9,949.16 พันล้านบาท ลดลงจากเดือนธันวาคมที่มีค่า 9,782.19 พันล้านบาท ซึ่งจะเห็นว่าปริมาณเงินฝากและเงินให้สินเชื่อมีค่าเพิ่มขึ้น สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังมีความผันผวนอยู่ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังมีความกังวลในเรื่องหนี้สาธารณะของยุโรป จึงทำให้ประชาชนยังออมเงินเพิ่มมากขึ้นอยู่ต่อไป สำหรับการปล่อยสินเชื่อมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นมา เนื่องจากธนาคารเริ่มปล่อยสินเชื่อหลังจากที่ได้มีการชะลอตัวไปก่อนหน้านี้ ส่งผลทำให้การปล่อยสินเชื่อในเดือนนี้มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นได้เล็กน้อย อย่างไรก็ตามผลของภาวะเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวได้อย่างไม่เต็มที่หลังจากที่มีผลกระทบจากหลายๆ ปัจจัย จึงทำให้ภาวะการฝากเงินและการให้สินเชื่อยังทรงตัวอยู่ต่อไป
ตารางภาวะเศรษฐกิจและการเงิน
รายละเอียด
พฤศจิกายน 54
ธันวาคม 54
มกราคม 55
กุมภาพันธ์ 55
ดัชนีราคาผู้บริโภค
113.3
112.8
113.2
113.6
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม
101.23
141.09
165.97
180.85
อัตราการใช้กำลังการผลิต
40.62
53.01
59.79
64.93
ดุลการค้า
218.43
-237.86
522.27
2,052.33
ดุลบัญชีเดินสะพัด
-136.26
1,939.87
980.83
1,091.86
เงินฝาก
7,914.59
7,990.82
8,085.48
n.a.
เงินให้สินเชื่อ
9,829.19
9,782.19
9,949.16
n.a.
                    ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย
                    หมายเหตุ: ดัชนีราคาผู้บริโภค มีปีฐานคือ 2545 เงินฝาก/เงินให้สินเชื่อ มีหน่วยเป็นพันล้านบาท
                                 อัตราการใช้กำลังการผลิต มีหน่วยเป็น ร้อยละ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม มีปีฐานคือ 2543
                                 ดุลการค้า ดุลบัญชีเดินสะพัด มีหน่วยเป็น ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา
วิเคราะห์ทิศทางเศรษฐกิจไทย*
          การวิเคราะห์เศรษฐกิจของประเทศไทยในขณะนี้ต้องมองในสามมิติด้วยกัน ได้แก่
          หนึ่ง สิ่งที่เกิดขึ้นในเศรษฐกิจโลก และผลที่จะมีต่อเศรษฐกิจไทย
          สอง  นโยบายของทางรัฐบาลไทยเองว่ากำลังให้ความสำคัญกับเรื่องอะไร และสิ่งที่ทำอยู่จะกระทบเศรษฐกิจอย่างไร
          สาม ความรู้สึก และการตอบสนองของภาคเอกชนกับสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น
          โดยทั้งสามมิตินี้เมื่อรวมกันก็คือผลที่จะมีต่อเศรษฐกิจ ซึ่งความเห็นเกี่ยวกับเศรษฐกิจของประเทศไทยในปัจจุบันนี้น่าจะมีเนื้อหาดังนี้
          ในแง่เศรษฐกิจโลกชัดเจนว่าปีนี้ปัญหาหนี้ยุโรปถือได้ว่าเป็นจุดอ่อนที่สำคัญ และเศรษฐกิจของยุโรปก็คงเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้สิ่งที่ต้องตระหนักและต้องให้ความสำคัญก็คือแม้เศรษฐกิจของประเทศสหรัฐอเมริกาล่าสุดจะเห็นได้ว่าตัวเลขต่างๆ โดยรวมถึงแม้ว่าจะดูดีขึ้น แต่การชะลอตัวของเศรษฐกิจยุโรปจะมีผลอย่างมากต่อเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจเอเชียรวมไปถึงประเทศจีนที่ตัวเลขเศรษฐกิจเริ่มเห็นสัญญาณของการชะลอตัวลงผ่านการชะลอตัวในเรื่องของการค้าโลก ซึ่งก็จะกระทบต่อการส่งออกของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี
          อีกประเด็นก็คือราคาน้ำมันที่มีความผันผวนและมีแนวโน้มในการปรับตัวสูงขึ้นไป ซึ่งสะท้อนความห่วงใยของตลาดจากกรณีความตึงเครียดระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกากับประเทศอิหร่าน ในเรื่องการพัฒนาโปรแกรมนิวเคลียร์ของประเทศอิหร่าน รวมถึงการมองว่าเศรษฐกิจโลกกำลังมีแนวโน้มของการฟื้นตัว จึงทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น และในขณะนี้ก็พบว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกได้ปรับตัวสูงขึ้นไปแล้วประมาณ 12 เปอร์เซ็นต์ตั้งแต่ต้นปี ถ้าราคาน้ำมันในปีนี้ยังยืนอยู่ในระดับที่สูง ก็จะเป็นข้อจำกัดต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจประเทศไทย นอกจากนี้สภาพคล่องในตลาดการเงินโลกที่มีเป็นจำนวนมากจากการผ่อนคลายนโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลักก็จะกระทบเศรษฐกิจของประเทศไทยในแง่เงินทุนไหลเข้า และจะสร้างแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ รวมไปถึงราคาสินทรัพย์ที่อาจจะปรับตัวสูงขึ้นได้อย่างรวดเร็วมากจนเกินไป อันนี้คือ สองสามประเด็นสำคัญในแง่เศรษฐกิจโลกที่จะส่งผลกระทบได้อย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยได้เป็นอย่างมาก
          สำหรับเศรษฐกิจของประเทศไทยเองนั้น เศรษฐกิจกำลังอยู่ในช่วงของการปรับตัวกับผลกระทบจากน้ำท่วมใหญ่เมื่อปลายปีที่ผ่านมา เพื่อเข้าสู่การทำงานที่เป็นปกติ ซึ่งจากตัวเลขในเดือนมกราคมชี้ว่าการฟื้นตัวของภาคการใช้จ่ายและภาคการผลิตในประเทศกำลังเกิดขึ้นอย่างช้าๆ แต่ไม่ได้พุ่งทะยานอย่างที่หลายๆ ฝ่ายคิดไว้ โดยเฉพาะทางด้านการผลิต การผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนมกราคมยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปีก่อน ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตก็ยังไม่กลับเข้าสู่ระดับของเดือนกันยายนปีที่แล้วก่อนที่จะมีการเกิดภาวะน้ำท่วมใหญ่ขึ้น ด้านการใช้จ่าย การลงทุนของภาคเอกชนยังไม่เร่งตัว ในขณะเดียวกันการขยายตัวของการส่งออกในเดือนมกราคมก็ถูกกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลก สิ่งเหล่านี้ชี้ว่าเป็น Momentum หรือกำลังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้นยังไม่เป็นไปตามศักยภาพที่แท้จริง ยกเว้นในสาขาที่เกี่ยวข้องกับการบริโภค เช่น รถยนต์ ที่อยู่อาศัย ที่ได้ประโยชน์จากสินเชื่อ การลดภาษี และการกระตุ้นของภาครัฐ แต่ส่วนที่เหลือจะเห็นได้ว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัวแบบไม่พุ่งทะยาน และเมื่อการผลิตยังไม่ได้ขยายตัวมากเท่าที่ควร ผลการขยายตัวของการใช้จ่ายที่มีต่อเศรษฐกิจจึงออกมาในรูปแบบของการปรับตัวสูงขึ้นของราคาสินค้าในประเทศ และราคาสินทรัพย์ คือ หุ้นและพันธบัตรมากกว่าจะเป็นการขยายตัวของรายได้
          ประเด็นหลังนี้จึงสะท้อนความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ในขณะนี้ว่าตลาดหุ้นมีทิศทางที่ดี การใช้จ่ายของครัวเรือนมีแนวโน้มคล่องตัวขึ้นซึ่งเป็นผลมาจากการได้รับสินเชื่อ แต่รายได้หรือกำลังซื้อของประชาชนไม่ขยายตัว ขณะที่ราคาสินค้าแพงขึ้น โดยล่าสุดพบว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนกุมภาพันธ์มีการปรับเพิ่มขึ้นไปถึงร้อยละ 3.4 โดยเฉพาะราคาอาหารที่เป็นผลมาจากน้ำท่วมที่มีต่ออุปทานหรือการผลิตอาหารในประเทศ และจากราคาน้ำมันที่ได้ปรับตัวสูงขึ้นไปอีก อีกทั้งถ้ามีการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามมา แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อก็สามารถเร่งตัวขึ้นไปได้อีก
          สำหรับนโยบายเศรษฐกิจภาครัฐขณะนี้ไม่มีอะไรเพิ่มเติมจากที่ทางรัฐบาลได้สร้างความเข้าใจตั้งแต่ภายหลังภาวะน้ำท่วมว่านโยบายทางด้านการคลังและการเงินจะมุ่งสนับสนุนต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยทางด้านการคลังนอกจากการผลักดันการกู้เงินใหม่ผ่านการออกพระราชกำหนดแล้ว ความชัดเจนในวิธีการใช้เงินและในแผนการลงทุนป้องกันน้ำท่วมก็ยังไม่มีรายละเอียดมากเท่าไรนักในสายตาของนักลงทุน ซึ่งถ้ามาตรการของภาครัฐไม่มีอะไรเพิ่มเติมจากที่เป็นข่าวไปก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะในโครงการการลงทุนขนาดใหญ่ในโครงสร้างพื้นฐานใหม่ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ภาคเอกชนก็คงจะต้องพึ่งตัวเองในเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งต่อไป ทำให้ในแง่ธุรกิจปัญหาของการเกิดน้ำท่วมจึงยังเป็นความเสี่ยงที่สำคัญอยู่ต่อไป ในแง่นี้จึงเห็นได้จากอัตราค่าธรรมเนียมในการทำประกันภัยอุทกภัยและน้ำท่วมของภาคเอกชนไทยที่มีการปรับเพิ่มขึ้นไปค่อนข้างสูง จนภาครัฐต้องเข้ามาช่วยเหลือ เพื่อลดภาระที่เป็นต้นทุนค่าใช้จ่ายของเอกชน ซึ่งจะมีผลลดทอนในเรื่องแรงจูงใจของภาคธุรกิจที่จะเข้ามาลงทุนใหม่
          ดังนั้นในขณะนี้สิ่งที่พอจะสรุปได้ก็คือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายหลังน้ำท่วมกำลังเกิดขึ้น แต่ไม่พุ่งทะยานไปอย่างรวดเร็ว และการฟื้นตัวคงต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร เพราะมีข้อจำกัดหรือปัญหาคอขวดในการผลิตภาคอุตสาหกรรมยังมีอยู่ รวมทั้งนโยบายของรัฐบาลที่ทำมาก็สามารถแก้ไขปัญหาได้เพียงเฉพาะหน้าเท่านั้น แต่วิธีการแก้ไขไม่สามารถสร้างพลังและแรงจูงใจให้ธุรกิจเอกชนเดินตามในแง่ของการลงทุนที่เพิ่มขึ้นได้ ในขณะเดียวกันราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นไป ก็อาจจะเป็นข้อจำกัดเพิ่มเติมให้พลังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอ่อนแรงลงได้ในระยะข้างหน้า ซึ่งก็เริ่มเห็นแล้วจากตัวเลขปริมาณเงินทั้งตัวเลขฐานเงินและตัวเลขปริมาณเงินตามความหมายแคบ หรือ M1 ที่อัตราการเพิ่มชะลอตัวลงไปอย่างต่อเนื่องในเดือนมกราคม ซึ่งในทางเศรษฐศาสตร์แล้วค่าของตัวเลขปริมาณเงินมักจะชี้นำถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต
          อย่างไรก็ตามสิ่งที่ไม่ควรไว้วางใจก็คือเรื่องเงินเฟ้อที่จะกระทบกับความเป็นอยู่ของประชาชน และลดทอนกำลังของเศรษฐกิจที่จะฟื้นตัว ซึ่งถ้าเงินเฟ้อมีการปรับตัวสูงเพิ่มขึ้นไปอย่างรวดเร็ว รัฐบาลก็จะต้องเสียเวลาเป็นอย่างมากกับการช่วยเหลือภาคประชาชนในการปรับตัวต่อค่าครองชีพที่สูงขึ้น อย่างที่กำลังทำอยู่ในขณะนี้ จึงส่งผลทำให้รัฐบาลจะต้องเข้ามาแก้ปัญหาที่ปลายเหตุมากกว่าจะแก้ที่ต้นเหตุ ก็คือแก้สาเหตุที่ทำให้ราคาสินค้าแพงขึ้นนั่นเอง
          ดังนั้นประเด็นที่ยังต้องมีการติดตามอย่างต่อเนื่องก็คือไม่อยากให้ทั้งรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยประเมินความเสี่ยงที่จะมีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อต่ำมากจนเกินไป เพราะจะทำให้เศรษฐกิจขาดโอกาสที่จะขับเคลื่อนการฟื้นตัวได้มากกว่าที่เป็นอยู่ ขณะที่การดูแลเงินเฟ้อถ้าถูกปล่อยวางไว้จนไม่ทันเหตุการณ์ก็จะทำให้อัตราเงินเฟ้อและการเพิ่มของต้นทุนการผลิตผสมผสานกันจนทำให้เป็นแรงกดดันต่อเศรษฐกิจได้เป็นอย่างมาก แล้วก็จะส่งผลทำให้เงินเฟ้อเป็นปัญหาใหญ่ตามมาจนทำให้การแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นตามมาต้องใช้มาตรการที่รุนแรง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้มากขึ้นไปอีก
วิธีวิเคราะห์ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
           ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนที่เกิดขึ้นในขณะนี้ไม่ว่าจะใช้ทฤษฎีวิเคราะห์อัตราแลกเปลี่ยนใดๆ ก็เหมือนว่าค่าที่ได้ออกมาจะผิดพลาดไปจากความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลกไม่ว่าจะเป็นจากปัจจัยภาวะวิกฤตที่ยุโรป หรือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา ในขณะที่เศรษฐกิจจีนก็มีแนวโน้มชะลอตัวลง สิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนส่งผลทำให้ทิศทางค่าเงินมีความผันผวนและไม่แน่นอนสูงเป็นอย่างมาก
           ดัชนี VIX เป็นดัชนีตัวหนึ่งที่ใช้วัดความเสี่ยงในตลาดการเงิน โดยมีการเรียกชื่อของดัชนีตัวนี้ว่า “ดัชนีความกลัว”  ค่าดัชนีนี้มาจาก Chicago Board Options Exchange ถึงแม้การที่จะเข้าใจวิธีการคำนวณดัชนีตัวนี้ค่อนข้างยาก แต่การนำดัชนีดังกล่าวมาใช้มีวิธีการในการพิจารณาแบบง่ายๆ ก็คือเมื่อใดก็ตามที่ดัชนีมีการปรับตัวสูงขึ้น นั่นหมายถึง ตลาดการเงินตระหนักว่ากำลังมีความเสี่ยงมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญแล้ว เมื่อนั้น ดอลลาร์สหรัฐอเมริกาก็มักจะปรับตัวไปในทิศทางที่แข็งค่าขึ้น เพราะนักลงทุนทั่วโลกยังคงมองว่าสินทรัพย์ในสกุลเงินดอลล่าร์สหรัฐอเมริกาเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ และในทางกลับกันถ้าค่าดัชนีดังกล่าวมีการปรับตัวลดลงไปค่าสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐอเมริกาก็จะมีทิศทางที่อ่อนลงเมื่อดัชนี VIX ลดลง
           ยกตัวอย่างเช่นในช่วงที่เกิดวิกฤตซับไพร์ม ค่าดัชนี VIX ที่ปกติเคลื่อนไหวอยู่ในระดับไม่เกิน 20 ก็กลับมาปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญถึงระดับ 70-80 หรือวิกฤตหนี้ยุโรปทั้งสองครั้งก็มีการปรับค่าเพิ่มขึ้นแตะที่ระดับ 40 เป็นต้น ยกเว้นในช่วงมาตรการผ่อนคลายทางการเงินหรือ QE2 ที่เป็นปัจจัยกดดันทำให้ค่าเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐอเมริกาอ่อนตัวลง แม้ว่าดัชนี VIX จะสูงขึ้นก็ตาม
           ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนจึงถือได้ว่าเป็นความเสี่ยงทั้งในเชิงบวกและลบของผู้ประกอบธุรกิจการค้าหรือประชาชนทั่วไปที่ต้องมีธุรกรรมเกี่ยวข้องกับการซื้อขายเงินตราต่างประเทศ เพราะไม่ว่าเงินบาทต่อสกุลเงินต่างประเทศจะเปลี่ยนแปลงไปในทางใดก็ตามจะต้องมีฝ่ายหนึ่งได้รับผลประโยชน์และอีกฝ่ายหนึ่งต้องเสียผลประโยชน์เสมอ ซึ่งหลายๆ ครั้ง ผู้ประกอบการไม่สามารถรออ่านบทวิเคราะห์หรือถามผู้เชี่ยวชาญได้อย่างทันเหตุการณ์
            จากข้อมูลสถิติ 13 ปีที่ผ่านมาพบว่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐอเมริกาเคยมีความแตกต่างของค่าต่ำสุดและสูงสุดระหว่างปีอยู่ระหว่างตั้งแต่ 2 ถึง 7 บาท และระหว่างไตรมาสอยู่ระหว่างตั้งแต่ 1 ถึง 5 บาท โดยที่ผ่านมาส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 70 แตกต่างกันไม่เกิน 2 บาท ความแตกต่างดังกล่าวถือว่าเป็นจำนวนเงินที่ไม่ใช่จำนวนน้อยๆ หากแปลงรายได้หรือค่าใช้จ่ายออกมาในรูปเงินบาทที่ต้องเสียประโยชน์ไป การใช้เครื่องมืออย่างการซื้อหรือขายอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้าเพื่อล็อคอัตราแลกเปลี่ยน โดยไม่ต้องสนใจอีกว่าอัตราตลาดที่เกิดขึ้นจริงในอนาคตจะเป็นอย่างไร เป็นการกำจัดความไม่แน่นอนของการแปลงค่าเงินได้ แต่จะดีมากยิ่งขึ้นหากสามารถประเมินทิศทางของค่าเงินได้จากดัชนี VIX ได้อย่างทันท่วงที ตัวอย่างเช่น เมื่อเห็นดัชนี VIX  ปรับตัวสูงขึ้นอย่างฉับพลัน ก็จะทราบได้ทันทีว่าดอลลาร์สหรัฐอเมริกาต้องมีแนวโน้มที่จะแข็งค่าขึ้นค่อนข้างอย่างแน่นอน ซึ่งจากสถิติที่ผ่านมาดอลลาร์สหรัฐอเมริกาจะแข็งอยู่ประมาณ 1- 2 ไตรมาส ดังนั้นหากมีธุรกรรมต้องชำระเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐอเมริกาภายในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ก็อาจจะรีบซื้อดอลลาร์ล่วงหน้าตั้งแต่ช่วงแรกๆที่ดัชนี VIX ปรับขึ้น เพื่อปิดความเสี่ยงทั้งหมดไว้ก่อน 
           แต่อย่างไรก็ตามถ้าหากมีธุรกรรมในช่วง 2-3 ไตรมาสถัดไป หรือ เริ่มเห็นว่าดัชนี VIX มีค่าที่ปรับตัวลดลง ก็อาจจะไม่จำเป็นต้องซื้อดอลลาร์สหรัฐอเมริกาล่วงหน้าเต็มจำนวนที่ต้องทำธุรกรรม เพราะดอลลาร์สหรัฐอเมริกาน่าจะมีแนวโน้มอ่อนตัวลง ในกรณีที่เป็นฝั่งผู้ต้องการขายดอลล่าร์สหรัฐอเมริกาก็มีแนวทางปฏิบัติในทิศทางที่ตรงกันข้ามกัน คือเมื่อเห็นดัชนี VIX ขึ้น ก็อาจจะปิดความเสี่ยงไม่เต็มจำนวน และทำเต็มจำนวนเมื่อเห็นดัชนี VIX เริ่มมีการปรับตัวที่ลดลงไป
           โดยสรุปภายใต้ความผันผวนของเศรษฐกิจการเงินที่กระทบกับทิศทางอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา จะเห็นได้ว่าดัชนี VIX สามารถช่วยบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ในระดับหนึ่ง โดยข้อมูลดังกล่าวสามารถหาได้จากอินเตอร์เน็ต เพียงแค่ใส่อักษร VIX เข้าไปเพื่อค้นหา จึงถือว่าเป็นเครื่องมือช่วยจัดการความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนในเชิงป้องกันที่คุ้มค่าแก่การนำมาใช้ เพื่อเพิ่มความสามารถของผู้ประกอบการในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการ SMEs  ก็จะถือได้ว่าเป็นการช่วยให้การดำเนินงานของกิจการมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะไม่ต้องมากังวลกับรายได้หรือรายจ่ายที่จะลดลงจนส่งผลกระทบต่อผลกำไรด้วยสาเหตุที่มาจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งจริงๆ แล้วสามารถที่จะเข้ามาบริหารจัดการได้ด้วยตนเอง

___________________________
* โดย : ดร.บัณฑิต นิจถาวร หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจวันที่ 26 มีนาคม 2555
กลุ่มข้อมูลองค์กร 
สำนักกรรมการผู้จัดการใหญ่