คลิกๆๆ รูปสวยๆน่ารักๆไว้ส่งต่อเพียบ... คลิกๆๆ รูปสวยๆน่ารักๆไว้ส่งต่อเพียบ... คลิกๆๆ รูปสวยๆน่ารักๆไว้ส่งต่อเพียบ...

วันพฤหัสบดีที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2555

สรุปภาวะเศรษฐกิจ




  
ข้อมูลเดือนกุมภาพันธ์ 2555 จากตารางภาวะเศรษฐกิจและการเงิน จะเห็นว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคมีค่าเพิ่มขึ้น ในขณะที่ภาคการผลิตมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากภาคการผลิตสามารถกลับมาเดินเครื่องในการผลิตได้เป็นที่เรียบร้อย ส่งผลทำให้การผลิตมีการขยายตัวได้สูงขึ้น ในขณะที่ดุลการค้ามีค่าเป็นบวก เพราะการส่งออกเริ่มกลับมาขยายตัวได้มากขึ้น ในขณะเดียวกันภาวะการเงินยังทรงตัวไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงมากนัก โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

1. ดัชนีราคาผู้บริโภค
           จากตารางภาวะเศรษฐกิจและการเงิน จะเห็นว่าดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนกุมภาพันธ์มีค่า 113.6 มีค่าเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนมกราคมที่มีค่า 113.2 เพราะสินค้าในหมวดอาหารยังมีราคาที่ทรงตัวไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเท่าไรนัก ในขณะที่ราคาน้ำมันมีการปรับตัวไปในทิศทางที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตามยังมีมาตรการภาครัฐในการช่วยทำให้ดัชนีราคาผู้บริโภคไม่ให้ปรับตัวสูงขึ้นไปมากเท่าไรนัก ซึ่งก็ต้องมีการติดตามในเรื่องของราคาน้ำมัน เพราะยังมีความไม่แน่นอนอย่างต่อเนื่อง และอาจจะส่งผลต่อดัชนีราคาผู้บริโภคได้อย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนกุมภาพันธ์จึงมีค่าเพิ่มขึ้นมาเมื่อเทียบกับเดือนมกราคมตามตารางที่ปรากฏ

2. ภาวะการผลิต
          จากดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมและอัตราการใช้กำลังการผลิตในตารางภาวะเศรษฐกิจและการเงิน จะเห็นได้ว่าดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนกุมภาพันธ์มีค่า 180.85 เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคมที่มีค่า 165.97  และอัตราการใช้กำลังการผลิตในเดือนกุมภาพันธ์มีค่าร้อยละ 64.93 เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคมที่มีค่าร้อยละ 59.79 โดยสาเหตุที่ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมและอัตราการใช้กำลังการผลิตมีค่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการต่างๆ สามารถเดินเครื่องการผลิตได้เป็นที่เรียบร้อยภายหลังจากที่ปัญหาอุทกภัยได้คลี่คลายไปทั้งหมดแล้ว ทำให้มีการเร่งนำเข้าปัจจัยการผลิตเข้ามาผลิตสินค้าอย่างต่อเนื่องหลังจากที่ได้มีการชะลอตัวลงไปในช่วงก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการจำเป็นต้องติดตามในเรื่องของราคาน้ำมันอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันความผันผวนที่จะเกิดขึ้น และควรจะต้องเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ เพื่อรองรับความเสี่ยง และเตรียมแผนรองรับสถานการณ์ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของต้นทุนราคาน้ำมันและความผันผวนของค่าเงินบาทด้วย ซึ่งจากปัจจัยดังกล่าวส่งผลทำให้ภาวะการผลิตในเดือนนี้มีการปรับตัวสูงขึ้นมาเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนที่แล้ว
3. ภาวะการค้า
           ดุลการค้าในเดือนกุมภาพันธ์มีค่า 2,052.33 จะเห็นว่าเพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคมที่มีค่า 522.27 และดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือนกุมภาพันธ์มีค่า 1,091.86 เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคมที่มีค่า 980.83 จะเห็นได้ว่าดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดมีค่าเพิ่มขึ้น โดยดุลการค้ามีค่าเป็นบวก เนื่องจากการส่งออกมีการขยายตัวได้สูงมากขึ้น เพราะผู้ผลิตสินค้าได้เร่งส่งสินค้าออกเพิ่มมากขึ้น หลังจากที่การผลิตสินค้าได้มีการชะลอตัวลงไป  ซึ่งเป็นผลมาจากปัญหาอุทกภัย จึงทำให้ดุลการค้ากลับมาปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นได้อีกครั้ง ในขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดก็ยังมีค่าเป็นบวกอยู่ เนื่องจากมีเงินไหลเข้ามาในประเทศอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามยังมีความจำเป็นต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจต่างๆ อย่างใกล้ชิด ทั้งในเรื่องของค่าเงินบาทรวมไปถึงยังมีปัจจัยลบอื่นๆ ที่เป็นปัญหาสำคัญที่อาจทำให้เศรษฐกิจของประเทศเกิดการชะลอตัว และจากปัจจัยต่างๆ ดังที่ได้กล่าวไปแล้วทำให้ภาวะการค้าในเดือนนี้มีค่าเพิ่มขึ้นมาเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า

4. ภาวะการเงิน
          ตารางภาวะเศรษฐกิจและการเงินแสดงได้ว่า เงินฝากเดือนมกราคมมีค่า 8,085.48 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคมที่มีค่า 7,990.82 พันล้านบาท และเงินให้สินเชื่อในเดือนมกราคมมีค่าเป็น 9,949.16 พันล้านบาท ลดลงจากเดือนธันวาคมที่มีค่า 9,782.19 พันล้านบาท ซึ่งจะเห็นว่าปริมาณเงินฝากและเงินให้สินเชื่อมีค่าเพิ่มขึ้น สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังมีความผันผวนอยู่ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังมีความกังวลในเรื่องหนี้สาธารณะของยุโรป จึงทำให้ประชาชนยังออมเงินเพิ่มมากขึ้นอยู่ต่อไป สำหรับการปล่อยสินเชื่อมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นมา เนื่องจากธนาคารเริ่มปล่อยสินเชื่อหลังจากที่ได้มีการชะลอตัวไปก่อนหน้านี้ ส่งผลทำให้การปล่อยสินเชื่อในเดือนนี้มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นได้เล็กน้อย อย่างไรก็ตามผลของภาวะเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวได้อย่างไม่เต็มที่หลังจากที่มีผลกระทบจากหลายๆ ปัจจัย จึงทำให้ภาวะการฝากเงินและการให้สินเชื่อยังทรงตัวอยู่ต่อไป
ตารางภาวะเศรษฐกิจและการเงิน
รายละเอียด
พฤศจิกายน 54
ธันวาคม 54
มกราคม 55
กุมภาพันธ์ 55
ดัชนีราคาผู้บริโภค
113.3
112.8
113.2
113.6
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม
101.23
141.09
165.97
180.85
อัตราการใช้กำลังการผลิต
40.62
53.01
59.79
64.93
ดุลการค้า
218.43
-237.86
522.27
2,052.33
ดุลบัญชีเดินสะพัด
-136.26
1,939.87
980.83
1,091.86
เงินฝาก
7,914.59
7,990.82
8,085.48
n.a.
เงินให้สินเชื่อ
9,829.19
9,782.19
9,949.16
n.a.
                    ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย
                    หมายเหตุ: ดัชนีราคาผู้บริโภค มีปีฐานคือ 2545 เงินฝาก/เงินให้สินเชื่อ มีหน่วยเป็นพันล้านบาท
                                 อัตราการใช้กำลังการผลิต มีหน่วยเป็น ร้อยละ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม มีปีฐานคือ 2543
                                 ดุลการค้า ดุลบัญชีเดินสะพัด มีหน่วยเป็น ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา
วิเคราะห์ทิศทางเศรษฐกิจไทย*
          การวิเคราะห์เศรษฐกิจของประเทศไทยในขณะนี้ต้องมองในสามมิติด้วยกัน ได้แก่
          หนึ่ง สิ่งที่เกิดขึ้นในเศรษฐกิจโลก และผลที่จะมีต่อเศรษฐกิจไทย
          สอง  นโยบายของทางรัฐบาลไทยเองว่ากำลังให้ความสำคัญกับเรื่องอะไร และสิ่งที่ทำอยู่จะกระทบเศรษฐกิจอย่างไร
          สาม ความรู้สึก และการตอบสนองของภาคเอกชนกับสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น
          โดยทั้งสามมิตินี้เมื่อรวมกันก็คือผลที่จะมีต่อเศรษฐกิจ ซึ่งความเห็นเกี่ยวกับเศรษฐกิจของประเทศไทยในปัจจุบันนี้น่าจะมีเนื้อหาดังนี้
          ในแง่เศรษฐกิจโลกชัดเจนว่าปีนี้ปัญหาหนี้ยุโรปถือได้ว่าเป็นจุดอ่อนที่สำคัญ และเศรษฐกิจของยุโรปก็คงเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้สิ่งที่ต้องตระหนักและต้องให้ความสำคัญก็คือแม้เศรษฐกิจของประเทศสหรัฐอเมริกาล่าสุดจะเห็นได้ว่าตัวเลขต่างๆ โดยรวมถึงแม้ว่าจะดูดีขึ้น แต่การชะลอตัวของเศรษฐกิจยุโรปจะมีผลอย่างมากต่อเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจเอเชียรวมไปถึงประเทศจีนที่ตัวเลขเศรษฐกิจเริ่มเห็นสัญญาณของการชะลอตัวลงผ่านการชะลอตัวในเรื่องของการค้าโลก ซึ่งก็จะกระทบต่อการส่งออกของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี
          อีกประเด็นก็คือราคาน้ำมันที่มีความผันผวนและมีแนวโน้มในการปรับตัวสูงขึ้นไป ซึ่งสะท้อนความห่วงใยของตลาดจากกรณีความตึงเครียดระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกากับประเทศอิหร่าน ในเรื่องการพัฒนาโปรแกรมนิวเคลียร์ของประเทศอิหร่าน รวมถึงการมองว่าเศรษฐกิจโลกกำลังมีแนวโน้มของการฟื้นตัว จึงทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น และในขณะนี้ก็พบว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกได้ปรับตัวสูงขึ้นไปแล้วประมาณ 12 เปอร์เซ็นต์ตั้งแต่ต้นปี ถ้าราคาน้ำมันในปีนี้ยังยืนอยู่ในระดับที่สูง ก็จะเป็นข้อจำกัดต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจประเทศไทย นอกจากนี้สภาพคล่องในตลาดการเงินโลกที่มีเป็นจำนวนมากจากการผ่อนคลายนโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลักก็จะกระทบเศรษฐกิจของประเทศไทยในแง่เงินทุนไหลเข้า และจะสร้างแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ รวมไปถึงราคาสินทรัพย์ที่อาจจะปรับตัวสูงขึ้นได้อย่างรวดเร็วมากจนเกินไป อันนี้คือ สองสามประเด็นสำคัญในแง่เศรษฐกิจโลกที่จะส่งผลกระทบได้อย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยได้เป็นอย่างมาก
          สำหรับเศรษฐกิจของประเทศไทยเองนั้น เศรษฐกิจกำลังอยู่ในช่วงของการปรับตัวกับผลกระทบจากน้ำท่วมใหญ่เมื่อปลายปีที่ผ่านมา เพื่อเข้าสู่การทำงานที่เป็นปกติ ซึ่งจากตัวเลขในเดือนมกราคมชี้ว่าการฟื้นตัวของภาคการใช้จ่ายและภาคการผลิตในประเทศกำลังเกิดขึ้นอย่างช้าๆ แต่ไม่ได้พุ่งทะยานอย่างที่หลายๆ ฝ่ายคิดไว้ โดยเฉพาะทางด้านการผลิต การผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนมกราคมยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปีก่อน ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตก็ยังไม่กลับเข้าสู่ระดับของเดือนกันยายนปีที่แล้วก่อนที่จะมีการเกิดภาวะน้ำท่วมใหญ่ขึ้น ด้านการใช้จ่าย การลงทุนของภาคเอกชนยังไม่เร่งตัว ในขณะเดียวกันการขยายตัวของการส่งออกในเดือนมกราคมก็ถูกกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลก สิ่งเหล่านี้ชี้ว่าเป็น Momentum หรือกำลังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้นยังไม่เป็นไปตามศักยภาพที่แท้จริง ยกเว้นในสาขาที่เกี่ยวข้องกับการบริโภค เช่น รถยนต์ ที่อยู่อาศัย ที่ได้ประโยชน์จากสินเชื่อ การลดภาษี และการกระตุ้นของภาครัฐ แต่ส่วนที่เหลือจะเห็นได้ว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัวแบบไม่พุ่งทะยาน และเมื่อการผลิตยังไม่ได้ขยายตัวมากเท่าที่ควร ผลการขยายตัวของการใช้จ่ายที่มีต่อเศรษฐกิจจึงออกมาในรูปแบบของการปรับตัวสูงขึ้นของราคาสินค้าในประเทศ และราคาสินทรัพย์ คือ หุ้นและพันธบัตรมากกว่าจะเป็นการขยายตัวของรายได้
          ประเด็นหลังนี้จึงสะท้อนความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ในขณะนี้ว่าตลาดหุ้นมีทิศทางที่ดี การใช้จ่ายของครัวเรือนมีแนวโน้มคล่องตัวขึ้นซึ่งเป็นผลมาจากการได้รับสินเชื่อ แต่รายได้หรือกำลังซื้อของประชาชนไม่ขยายตัว ขณะที่ราคาสินค้าแพงขึ้น โดยล่าสุดพบว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนกุมภาพันธ์มีการปรับเพิ่มขึ้นไปถึงร้อยละ 3.4 โดยเฉพาะราคาอาหารที่เป็นผลมาจากน้ำท่วมที่มีต่ออุปทานหรือการผลิตอาหารในประเทศ และจากราคาน้ำมันที่ได้ปรับตัวสูงขึ้นไปอีก อีกทั้งถ้ามีการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามมา แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อก็สามารถเร่งตัวขึ้นไปได้อีก
          สำหรับนโยบายเศรษฐกิจภาครัฐขณะนี้ไม่มีอะไรเพิ่มเติมจากที่ทางรัฐบาลได้สร้างความเข้าใจตั้งแต่ภายหลังภาวะน้ำท่วมว่านโยบายทางด้านการคลังและการเงินจะมุ่งสนับสนุนต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยทางด้านการคลังนอกจากการผลักดันการกู้เงินใหม่ผ่านการออกพระราชกำหนดแล้ว ความชัดเจนในวิธีการใช้เงินและในแผนการลงทุนป้องกันน้ำท่วมก็ยังไม่มีรายละเอียดมากเท่าไรนักในสายตาของนักลงทุน ซึ่งถ้ามาตรการของภาครัฐไม่มีอะไรเพิ่มเติมจากที่เป็นข่าวไปก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะในโครงการการลงทุนขนาดใหญ่ในโครงสร้างพื้นฐานใหม่ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ภาคเอกชนก็คงจะต้องพึ่งตัวเองในเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งต่อไป ทำให้ในแง่ธุรกิจปัญหาของการเกิดน้ำท่วมจึงยังเป็นความเสี่ยงที่สำคัญอยู่ต่อไป ในแง่นี้จึงเห็นได้จากอัตราค่าธรรมเนียมในการทำประกันภัยอุทกภัยและน้ำท่วมของภาคเอกชนไทยที่มีการปรับเพิ่มขึ้นไปค่อนข้างสูง จนภาครัฐต้องเข้ามาช่วยเหลือ เพื่อลดภาระที่เป็นต้นทุนค่าใช้จ่ายของเอกชน ซึ่งจะมีผลลดทอนในเรื่องแรงจูงใจของภาคธุรกิจที่จะเข้ามาลงทุนใหม่
          ดังนั้นในขณะนี้สิ่งที่พอจะสรุปได้ก็คือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายหลังน้ำท่วมกำลังเกิดขึ้น แต่ไม่พุ่งทะยานไปอย่างรวดเร็ว และการฟื้นตัวคงต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร เพราะมีข้อจำกัดหรือปัญหาคอขวดในการผลิตภาคอุตสาหกรรมยังมีอยู่ รวมทั้งนโยบายของรัฐบาลที่ทำมาก็สามารถแก้ไขปัญหาได้เพียงเฉพาะหน้าเท่านั้น แต่วิธีการแก้ไขไม่สามารถสร้างพลังและแรงจูงใจให้ธุรกิจเอกชนเดินตามในแง่ของการลงทุนที่เพิ่มขึ้นได้ ในขณะเดียวกันราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นไป ก็อาจจะเป็นข้อจำกัดเพิ่มเติมให้พลังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอ่อนแรงลงได้ในระยะข้างหน้า ซึ่งก็เริ่มเห็นแล้วจากตัวเลขปริมาณเงินทั้งตัวเลขฐานเงินและตัวเลขปริมาณเงินตามความหมายแคบ หรือ M1 ที่อัตราการเพิ่มชะลอตัวลงไปอย่างต่อเนื่องในเดือนมกราคม ซึ่งในทางเศรษฐศาสตร์แล้วค่าของตัวเลขปริมาณเงินมักจะชี้นำถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต
          อย่างไรก็ตามสิ่งที่ไม่ควรไว้วางใจก็คือเรื่องเงินเฟ้อที่จะกระทบกับความเป็นอยู่ของประชาชน และลดทอนกำลังของเศรษฐกิจที่จะฟื้นตัว ซึ่งถ้าเงินเฟ้อมีการปรับตัวสูงเพิ่มขึ้นไปอย่างรวดเร็ว รัฐบาลก็จะต้องเสียเวลาเป็นอย่างมากกับการช่วยเหลือภาคประชาชนในการปรับตัวต่อค่าครองชีพที่สูงขึ้น อย่างที่กำลังทำอยู่ในขณะนี้ จึงส่งผลทำให้รัฐบาลจะต้องเข้ามาแก้ปัญหาที่ปลายเหตุมากกว่าจะแก้ที่ต้นเหตุ ก็คือแก้สาเหตุที่ทำให้ราคาสินค้าแพงขึ้นนั่นเอง
          ดังนั้นประเด็นที่ยังต้องมีการติดตามอย่างต่อเนื่องก็คือไม่อยากให้ทั้งรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยประเมินความเสี่ยงที่จะมีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อต่ำมากจนเกินไป เพราะจะทำให้เศรษฐกิจขาดโอกาสที่จะขับเคลื่อนการฟื้นตัวได้มากกว่าที่เป็นอยู่ ขณะที่การดูแลเงินเฟ้อถ้าถูกปล่อยวางไว้จนไม่ทันเหตุการณ์ก็จะทำให้อัตราเงินเฟ้อและการเพิ่มของต้นทุนการผลิตผสมผสานกันจนทำให้เป็นแรงกดดันต่อเศรษฐกิจได้เป็นอย่างมาก แล้วก็จะส่งผลทำให้เงินเฟ้อเป็นปัญหาใหญ่ตามมาจนทำให้การแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นตามมาต้องใช้มาตรการที่รุนแรง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้มากขึ้นไปอีก
วิธีวิเคราะห์ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
           ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนที่เกิดขึ้นในขณะนี้ไม่ว่าจะใช้ทฤษฎีวิเคราะห์อัตราแลกเปลี่ยนใดๆ ก็เหมือนว่าค่าที่ได้ออกมาจะผิดพลาดไปจากความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลกไม่ว่าจะเป็นจากปัจจัยภาวะวิกฤตที่ยุโรป หรือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา ในขณะที่เศรษฐกิจจีนก็มีแนวโน้มชะลอตัวลง สิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนส่งผลทำให้ทิศทางค่าเงินมีความผันผวนและไม่แน่นอนสูงเป็นอย่างมาก
           ดัชนี VIX เป็นดัชนีตัวหนึ่งที่ใช้วัดความเสี่ยงในตลาดการเงิน โดยมีการเรียกชื่อของดัชนีตัวนี้ว่า “ดัชนีความกลัว”  ค่าดัชนีนี้มาจาก Chicago Board Options Exchange ถึงแม้การที่จะเข้าใจวิธีการคำนวณดัชนีตัวนี้ค่อนข้างยาก แต่การนำดัชนีดังกล่าวมาใช้มีวิธีการในการพิจารณาแบบง่ายๆ ก็คือเมื่อใดก็ตามที่ดัชนีมีการปรับตัวสูงขึ้น นั่นหมายถึง ตลาดการเงินตระหนักว่ากำลังมีความเสี่ยงมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญแล้ว เมื่อนั้น ดอลลาร์สหรัฐอเมริกาก็มักจะปรับตัวไปในทิศทางที่แข็งค่าขึ้น เพราะนักลงทุนทั่วโลกยังคงมองว่าสินทรัพย์ในสกุลเงินดอลล่าร์สหรัฐอเมริกาเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ และในทางกลับกันถ้าค่าดัชนีดังกล่าวมีการปรับตัวลดลงไปค่าสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐอเมริกาก็จะมีทิศทางที่อ่อนลงเมื่อดัชนี VIX ลดลง
           ยกตัวอย่างเช่นในช่วงที่เกิดวิกฤตซับไพร์ม ค่าดัชนี VIX ที่ปกติเคลื่อนไหวอยู่ในระดับไม่เกิน 20 ก็กลับมาปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญถึงระดับ 70-80 หรือวิกฤตหนี้ยุโรปทั้งสองครั้งก็มีการปรับค่าเพิ่มขึ้นแตะที่ระดับ 40 เป็นต้น ยกเว้นในช่วงมาตรการผ่อนคลายทางการเงินหรือ QE2 ที่เป็นปัจจัยกดดันทำให้ค่าเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐอเมริกาอ่อนตัวลง แม้ว่าดัชนี VIX จะสูงขึ้นก็ตาม
           ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนจึงถือได้ว่าเป็นความเสี่ยงทั้งในเชิงบวกและลบของผู้ประกอบธุรกิจการค้าหรือประชาชนทั่วไปที่ต้องมีธุรกรรมเกี่ยวข้องกับการซื้อขายเงินตราต่างประเทศ เพราะไม่ว่าเงินบาทต่อสกุลเงินต่างประเทศจะเปลี่ยนแปลงไปในทางใดก็ตามจะต้องมีฝ่ายหนึ่งได้รับผลประโยชน์และอีกฝ่ายหนึ่งต้องเสียผลประโยชน์เสมอ ซึ่งหลายๆ ครั้ง ผู้ประกอบการไม่สามารถรออ่านบทวิเคราะห์หรือถามผู้เชี่ยวชาญได้อย่างทันเหตุการณ์
            จากข้อมูลสถิติ 13 ปีที่ผ่านมาพบว่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐอเมริกาเคยมีความแตกต่างของค่าต่ำสุดและสูงสุดระหว่างปีอยู่ระหว่างตั้งแต่ 2 ถึง 7 บาท และระหว่างไตรมาสอยู่ระหว่างตั้งแต่ 1 ถึง 5 บาท โดยที่ผ่านมาส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 70 แตกต่างกันไม่เกิน 2 บาท ความแตกต่างดังกล่าวถือว่าเป็นจำนวนเงินที่ไม่ใช่จำนวนน้อยๆ หากแปลงรายได้หรือค่าใช้จ่ายออกมาในรูปเงินบาทที่ต้องเสียประโยชน์ไป การใช้เครื่องมืออย่างการซื้อหรือขายอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้าเพื่อล็อคอัตราแลกเปลี่ยน โดยไม่ต้องสนใจอีกว่าอัตราตลาดที่เกิดขึ้นจริงในอนาคตจะเป็นอย่างไร เป็นการกำจัดความไม่แน่นอนของการแปลงค่าเงินได้ แต่จะดีมากยิ่งขึ้นหากสามารถประเมินทิศทางของค่าเงินได้จากดัชนี VIX ได้อย่างทันท่วงที ตัวอย่างเช่น เมื่อเห็นดัชนี VIX  ปรับตัวสูงขึ้นอย่างฉับพลัน ก็จะทราบได้ทันทีว่าดอลลาร์สหรัฐอเมริกาต้องมีแนวโน้มที่จะแข็งค่าขึ้นค่อนข้างอย่างแน่นอน ซึ่งจากสถิติที่ผ่านมาดอลลาร์สหรัฐอเมริกาจะแข็งอยู่ประมาณ 1- 2 ไตรมาส ดังนั้นหากมีธุรกรรมต้องชำระเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐอเมริกาภายในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ก็อาจจะรีบซื้อดอลลาร์ล่วงหน้าตั้งแต่ช่วงแรกๆที่ดัชนี VIX ปรับขึ้น เพื่อปิดความเสี่ยงทั้งหมดไว้ก่อน 
           แต่อย่างไรก็ตามถ้าหากมีธุรกรรมในช่วง 2-3 ไตรมาสถัดไป หรือ เริ่มเห็นว่าดัชนี VIX มีค่าที่ปรับตัวลดลง ก็อาจจะไม่จำเป็นต้องซื้อดอลลาร์สหรัฐอเมริกาล่วงหน้าเต็มจำนวนที่ต้องทำธุรกรรม เพราะดอลลาร์สหรัฐอเมริกาน่าจะมีแนวโน้มอ่อนตัวลง ในกรณีที่เป็นฝั่งผู้ต้องการขายดอลล่าร์สหรัฐอเมริกาก็มีแนวทางปฏิบัติในทิศทางที่ตรงกันข้ามกัน คือเมื่อเห็นดัชนี VIX ขึ้น ก็อาจจะปิดความเสี่ยงไม่เต็มจำนวน และทำเต็มจำนวนเมื่อเห็นดัชนี VIX เริ่มมีการปรับตัวที่ลดลงไป
           โดยสรุปภายใต้ความผันผวนของเศรษฐกิจการเงินที่กระทบกับทิศทางอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา จะเห็นได้ว่าดัชนี VIX สามารถช่วยบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ในระดับหนึ่ง โดยข้อมูลดังกล่าวสามารถหาได้จากอินเตอร์เน็ต เพียงแค่ใส่อักษร VIX เข้าไปเพื่อค้นหา จึงถือว่าเป็นเครื่องมือช่วยจัดการความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนในเชิงป้องกันที่คุ้มค่าแก่การนำมาใช้ เพื่อเพิ่มความสามารถของผู้ประกอบการในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการ SMEs  ก็จะถือได้ว่าเป็นการช่วยให้การดำเนินงานของกิจการมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะไม่ต้องมากังวลกับรายได้หรือรายจ่ายที่จะลดลงจนส่งผลกระทบต่อผลกำไรด้วยสาเหตุที่มาจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งจริงๆ แล้วสามารถที่จะเข้ามาบริหารจัดการได้ด้วยตนเอง

___________________________
* โดย : ดร.บัณฑิต นิจถาวร หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจวันที่ 26 มีนาคม 2555
กลุ่มข้อมูลองค์กร 
สำนักกรรมการผู้จัดการใหญ่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น