คลิกๆๆ รูปสวยๆน่ารักๆไว้ส่งต่อเพียบ... คลิกๆๆ รูปสวยๆน่ารักๆไว้ส่งต่อเพียบ... คลิกๆๆ รูปสวยๆน่ารักๆไว้ส่งต่อเพียบ...

วันพฤหัสบดีที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2555

เงินๆ ทองๆ จัดการอย่างไร*


เงินๆ ทองๆ จัดการอย่างไร*


          ในช่วงที่ผ่านมานี้ได้มีคำถามหลายๆ คำถาม อาทิเช่น วันนี้ลงทุนอะไรดี ดอกเบี้ยก็ต่ำจะลงทุนในตลาดหุ้นก็ไม่แน่ใจ จะซื้อคอนโดมิเนียมหรือที่ดินดี ก็เลยคิดว่าครั้งนี้มาคุยกันดีกว่าว่าสภาพในปัจจุบันเป็นอย่างไร และจะประเมินกันยังไง แล้วอะไรคือสิ่งที่จะลงทุนได้บ้าง อย่างน้อยก็เพื่อความมั่นใจในการเลือกลงทุน โดยสิ่งหนึ่งซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการลงทุนก็คือ ต้องตั้งคำถามว่าสามารถรับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน หรือพร้อมที่จะรับกับการขาดทุนได้หรือเปล่า ถ้าได้จะสามารถขาดทุนได้มากน้อยเท่าไร เพราะถ้ารับความเสี่ยงหรือขาดทุนได้น้อย การลงทุนก็จะเป็นแบบหนึ่ง หากรับความเสี่ยงหรือขาดทุนได้มากขึ้น การลงทุนก็เป็นอีกแบบหนึ่ง เหมือนกับคำที่เขียนไว้สำหรับลงทุนในกองทุนรวมต่างๆ หรือในหุ้นต่างๆ คือ การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนต้องพิจารณาถึงความเสี่ยงก่อนการลงทุน นอกจากนั้นการลงทุน การออม และการเก็งกำไรก็มีอันดับของความเสี่ยงที่แตกต่างกัน คือ การออมมีความเสี่ยงน้อยที่สุด การลงทุนมีความเสี่ยงมากกว่า และการเก็งกำไรมีความเสี่ยงมากที่สุด
          พอถามถึงความเสี่ยงในการลงทุนแล้ว หากรับความเสี่ยงไม่ได้เลยทางเลือกคงต้องเลือกในการออมเงิน หรือเงินฝากธนาคาร และการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย และพันธบัตรรัฐวิสาหกิจที่มีรัฐบาลเป็นผู้ค้ำประกัน และผลตอบแทนจะเป็นในรูปแบบดอกเบี้ย ซึ่งจะมีจำนวนไม่มากนัก ขึ้นอยู่กับสภาวการณ์นั้นๆ ซึ่งในปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยธนาคาร และพันธบัตรต่างๆ ได้มีการปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่หากรับความเสี่ยงได้บ้าง หรือปานกลาง ก็สามารถลงทุนโดยการผสมสัดส่วนของการลงทุนใน  ตราสารหรือทรัพย์ที่มีสภาพหลายๆ สภาพได้ อาทิเช่น ตราสารหนี้เอกชนหรือหุ้นกู้ หุ้นสามัญ ที่ดิน คอนโดมิเนียม ทองคำ และอื่นๆ ทั้งนี้การลงทุนในทรัพย์หลายๆ อย่างนี้จำเป็นต้องคำนึงถึงลักษณะของความเสี่ยงหลักๆ อาทิเช่น
          ความเสี่ยงด้านราคา คือ ความเสี่ยงที่ราคาของทรัพย์นี้จะเปลี่ยนแปลงไป คือ ราคาส่วนต่างของราคาเสนอซื้อกับเสนอขายเป็นอย่างไร กว้างหรือแคบ ราคาเปลี่ยนแปลงไปตามปัจจัยอะไร และเข้าใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของราคาหรือไม่ ซึ่งถือได้ว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะจะแสดงถึงปริมาณที่จะกำไรหรือขาดทุนได้
          ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง อาทิเช่น หากซื้อทรัพย์เหล่านี้มาแล้ว สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้เร็วแค่ไหน หากเปลี่ยนเป็นเงินสดได้เร็วก็มีสภาพคล่องสูง หากเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ช้าก็มีสภาพคล่องต่ำ เช่น หุ้นสามัญที่มีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์มีสภาพคล่องในการเปลี่ยนเป็นเงินมากกว่าที่ดิน ทองคำแท่งสามารถขายและเปลี่ยนเป็นเงินสดได้เร็วกว่าเพชร ซึ่งแปลว่าทองคำแท่งมีสภาพคล่องสูงกว่าเพชร ซึ่งทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงกว่าก็จะมีส่วนต่างราคาเสนอซื้อและราคาเสนอขายที่แคบกว่าทรัพย์ที่มีสภาพคล่องต่ำ

          โดยทั้งสองความเสี่ยงนี้เป็นสองความเสี่ยงหลักๆ ที่ต้องคำนึงถึง เพื่อนำมากำหนดสัดส่วน และลักษณะการลงทุน หากรับความเสี่ยงได้น้อยก็ต้องลงทุนในทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำทั้งสองด้าน ทั้งด้านของราคา และสภาพคล่อง คือ ต้องมีความเสี่ยงด้านราคาต่ำ และมีสภาพคล่องสูง หากสามารถรับความเสี่ยงสูงก็สามารถลงทุนในทรัพย์ที่มีความเสี่ยงด้านราคาสูงขึ้น และมีสภาพคล่องที่ต่ำลง ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงของราคานั้น มีการเปลี่ยนแปลงที่สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ในขณะที่การเปลี่ยนแปลงด้านสภาพคล่องมีการเปลี่ยนแปลงที่น้อย หรือช้ากว่า
           อีกประเด็นที่น่าสนใจ คือ ในช่วงสองปีที่ผ่านมาการลงทุนในทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงนั้นมีทางเลือกเพิ่มขึ้น อาทิ การลงทุนในอนุพันธ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าเกษตร หรือทองคำ รวมถึงการลงทุนในทองคำแท่ง ซึ่งมีคำถามหลายๆ คำถามว่าการลงทุนในอนุพันธ์ เช่น ทองคำ แตกต่างกับการลงทุนในการซื้อทองคำโดยตรงอย่างไร
           การลงทุนทั้งในการซื้อตรง (บางครั้งเรียกว่าการลงทุนใน PHYSICAL) และการลงทุนในอนุพันธ์ (บางครั้งเรียกว่า FUTURE) มีการลงทุนในทรัพย์อ้างอิงเดียวกัน คือ ทองคำ การลงทุนใน PHYSICAL และการลงทุนผ่านอนุพันธ์มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน โดยสามารถอธิบายจากตัวอย่างคร่าวๆ ก็คือ หากมีเงินลงทุนอยู่ 2 แสนบาท จะเลือกว่าจะลงทุนในการซื้อทองคำแท่ง หรือจะลงทุนในตลาดอนุพันธ์ดี ซึ่งถ้าลงทุนในทองคำแท่ง สมมติว่าทองคำแท่งบาทละ 20,000 บาท ก็สามารถซื้อทองได้ 10 บาท แต่หากลงทุนในตลาดอนุพันธ์ก็สามารถเปิดบัญชีกับบริษัทที่ให้บริการด้านการซื้อขายอนุพันธ์ได้ โดยต้องวางเงินเป็นหลักประกันเริ่มต้น โดยสมมติว่ามีหลักประกันเริ่มต้น คือ 10% ของเงินที่ต้องการลงทุน คือ หากต้องการลงทุนทองคำ 10 บาท ที่ราคาบาทละ 20,000 บาท เป็นเงินรวม 200,000 บาท ต้องวางเงิน 10% คือ วางเงิน 20,000 บาท เท่านั้น และถ้ามีเงินอยู่ 200,000 บาท สามารถซื้อทองได้เทียบเท่ากับ 100 บาท ถ้าสรุปคร่าวๆ คือ เงิน 200,000 บาท (สมมติว่าทองคำบาทละ 20,000 บาท และการวางหลักประกันที่ร้อยละ 10) สามารถซื้อทองคำแท่ง 10 บาท แต่สามารถซื้อสัญญาอนุพันธ์เทียบเท่าทองคำแท่ง 100 บาท
          ซึ่งน่าสนใจว่าถ้ามีเงิน 200,000 บาท แต่สามารถลงทุนในทองคำแท่งเทียบเท่า 100 บาท แต่ถ้าพิจารณาจริงๆ จะเห็นได้ว่าเมื่อราคาทองคำเปลี่ยนแปลงไป การลงทุนในทองคำที่เป็นการซื้อทองคำจริง และลงทุนในอนุพันธ์จะให้ผลตอบแทนในปริมาณที่ไม่เท่ากัน จากเงินต้นที่เท่ากัน ทั้งนี้การลงทุนในอนุพันธ์ผู้ลงทุนต้องมีความเข้าใจในลักษณะของการลงทุน เนื่องด้วยปริมาณการเทียบการลงทุนที่มากกว่าการลงทุนในทองคำจริง ซึ่งการเลือกลงทุนผ่านการซื้อทองเมื่อเทียบกับการซื้ออนุพันธ์จำเป็นต้องมีการจัดสัดส่วนในการลงทุนเช่นกันกับความเสี่ยงที่ได้กล่าวไว้เบื้องต้น
          โดยสรุปต้องถามตัวเองว่าสามารถรับความเสี่ยงได้มากหรือน้อยแค่ไหน และนำเอาองค์ประกอบต่างๆ มาประกอบ อาทิเช่น ความเสี่ยง สภาพคล่อง และลักษณะของแต่ละทรัพย์ เพื่อเป็นการจัดสรรการลงทุนให้เป็นองค์ประกอบที่เหมาะสม อัตราผลตอบแทนและโอกาสขาดทุน หรือปริมาณการขาดทุน ก็จะสามารถคาดการณ์ได้จากการจัดสรรการลงทุนของเราได้เอง
___________________
* โดยมายาการเงิน : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันพฤหัสบดีที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2553

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น