คลิกๆๆ รูปสวยๆน่ารักๆไว้ส่งต่อเพียบ... คลิกๆๆ รูปสวยๆน่ารักๆไว้ส่งต่อเพียบ... คลิกๆๆ รูปสวยๆน่ารักๆไว้ส่งต่อเพียบ...

วันพฤหัสบดีที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2555

เคล็ดลับเลือกโปรโมชั่นเงินฝาก แบงก์ไหนให้ดอกเบี้ยสูงกว่า*

เคล็ดลับเลือกโปรโมชั่นเงินฝาก แบงก์ไหนให้ดอกเบี้ยสูงกว่า*



          จากการสำรวจตลาดเงินฝากของผู้จัดการรายวันพบว่าการแข่งขันแย่งเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ แบ่งเป็น 2 บัญชี คือ บัญชีเงินฝากประจำและบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ (บางแห่งใช้คำว่าบัญชีเงินฝากเผื่อเรียก)สำหรับบัญชีออมทรัพย์ในระยะนี้มี 2 ธนาคารที่แข่งขันกันคือธนาคารทหารไทย (TMB) และธนาคารกรุงศรีอยุธยา ส่วนของธนาคารออมสินเป็นบัญชีเงินฝากเผื่อเรียกพิเศษที่มีระยะเวลากำหนดไว้ โดยธนาคารกรุงศรีฯ ได้เสนอเงินฝากพิเศษกรุงศรีฯ ออมทรัพย์มีแต่ได้ เปิดบัญชีขั้นต่ำ 500 บาท ไม่กำหนดยอดเงินคงเหลือขั้นต่ำในบัญชี สามารถถอนได้ 2 ครั้งต่อเดือน ไม่คิดค่าธรรมเนียม ไม่จำกัดจำนวนบัญชีที่ลูกค้าสามารถเปิดได้ต่อคน อัตราดอกเบี้ย 2.9% ขณะที่ธนาคารทหารไทยมีบัญชีเงินฝากไม่ประจำ ทีเอ็มบี ดอกเบี้ยสูง ซึ่งเป็นบัญชีพิเศษที่เคยทำมาก่อนหน้านี้ แต่ทางธนาคารแจ้งว่าเพื่อเป็นการฉลองความสำเร็จกับบัญชีที่คนกว่าครึ่งล้านเปิดใช้ โดยเสนออัตราดอกเบี้ยพิเศษ 3% จนถึง 31 กรกฎาคม 2555 โดยถอนเมื่อไรก็ได้และไม่มีขั้นต่ำ

           นักบริหารเงินให้คำแนะนำในเรื่องนี้ว่าตัวเลขดังกล่าวถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับดอกเบี้ยออมทรัพย์ปกติที่ 0.75% ที่สำคัญคือไม่ต้องเสียภาษีจากอัตราดอกเบี้ย เพราะไม่ถือเป็นบัญชีเงินฝากประจำ คือธนาคารได้พัฒนาผลิตภัณฑ์นี้มาโดยการเอาบัญชีเงินฝากมาบวกด้วยอัตราดอกเบี้ยสูงของบัญชีเงินฝากประจำเรียกว่าบัญชีเงินฝากไม่ประจำ จึงมีสภาพเป็นบัญชีออมทรัพย์ที่ได้ดอกเบี้ยสูง วันนี้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินได้พัฒนามากขึ้น มีการนำเอาหลักทางการตลาดเข้ามาใช้มากขึ้นเพื่อดึงดูดใจลูกค้า ไม่แตกต่างจากสินค้าประเภทอื่น ผู้บริโภคก็ต้องปรับตัวให้ทันกับการตลาดของแบงก์พาณิชย์ด้วยเช่นกัน ตัวเลขของผลตอบแทนที่สูงกว่าปกตินั้นย่อมจะต้องมีเงื่อนไขอื่นพ่วงเข้ามาด้วย ดอกเบี้ยที่สูงเป็นพิเศษเท่ากับแบงก์ต้องมีต้นทุนมากกว่าปกติ ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละแบงก์ว่าทำการตลาดด้วยดอกเบี้ยสูงด้วยวัตถุประสงค์ใด บางแห่งถือว่าต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของงบประชาสัมพันธ์ธนาคารไปในตัว หรืออาจต้องการขยายฐานของธนาคารให้มากขึ้นกว่าเดิม
           • ถามละเอียดก่อนฝาก
           การนำเอาบัญชีเงินฝากออมทรัพย์มาเพิ่มด้วยดอกเบี้ยสูง จะเห็นได้ว่ามีธนาคารทหารไทยและธนาคาร  กรุงศรีอยุธยาซึ่งเป็นธนาคารขนาดกลางที่ต้องการเพิ่มฐานลูกค้าให้มากยิ่งขึ้น ขณะที่แบงก์ขนาดใหญ่ยังไม่ลงมาเล่นในเกมนี้ ธนาคารทหารไทยที่เปิดบัญชีเงินฝากไม่ประจำครั้งแรกให้อัตราดอกเบี้ย 2.5% ถือว่าประสบความสำเร็จไม่น้อยกับมากกว่า 5 แสนบัญชีที่เปิดเพิ่ม จึงได้ออกโปรโมชั่นให้ดอกเบี้ย 3% มากระตุ้นต่อเนื่องในช่วง 1 มิถุนายน-31 กรกฎาคม 2555 ปัจจุบันดอกเบี้ยปกติของบัญชีเงินฝากไม่ประจำของธนาคารทหารไทยลดเหลือ 2% ความหมายของโปรโมชั่นดังกล่าวคือให้ดอกเบี้ย 3% เฉพาะ 2 เดือนที่มีโปรโมชั่นทั้งลูกค้าบัญชีเก่าและเปิดบัญชีใหม่ เมื่อพ้นจากสิ้นเดือนกรกฎาคมไปแล้วจะปรับดอกเบี้ยมาอยู่ที่ 2% สิ่งที่ทหารไทยทำคือให้ดอกเบี้ยปกติบวกด้วยโบนัสอีก 1% โดย 1% นี้ให้เฉพาะ 2 เดือนเท่านั้น เช่น ถ้าไปฝากเงินทั้งบัญชีเก่าและเปิดบัญชีใหม่ในวันที่ 31 กรกฎาคมก็จะได้ดอกเบี้ย 2+1% แค่ 1 วัน ดังนั้นใครที่ใช้โอกาสนี้ฝากก่อนก็จะได้ดอกเบี้ยพิเศษในระยะเวลาที่นานกว่า บัญชีเงินฝากดังกล่าวกำหนดไว้ไม่สามารถทำบัตรเอทีเอ็มได้ การทำรายการใน 1 เดือนเปิดให้ทำได้ 2 ครั้ง หากมีครั้งที่ 3 จะคิดรายการละ 50 บาท ลูกค้าที่ปิดบัญชีก่อนวันที่ 4 สิงหาคม 2555 จะไม่ได้รับดอกเบี้ยโบนัส จำกัดลูกค้าในการเปิดบัญชีได้เพียง 1 บัญชีเท่านั้น

            สำหรับธนาคารกรุงศรีฯ กับบัญชีออมทรัพย์มีแต่ได้ ดอกเบี้ย 2.9% กำหนดเงินฝากขั้นต่ำไว้ที่ 500 บาท กรณีนี้สามารถทำรายการผ่านบัตรเอทีเอ็มได้ กำหนดทำรายการถอนได้ 2 ครั้งต่อเดือน ตั้งแต่ครั้งที่ 3 คิดค่าบริการ 50 บาท ส่วนอัตราดอกเบี้ยที่ 2.9% จะให้เฉพาะลูกค้าที่มีเงินฝากตั้งแต่ 1 แสนบาท-10 ล้านบาท ส่วนลูกค้าที่มีเงินฝากต่ำกว่า 1 แสนบาทจะได้ดอกเบี้ย 1% แต่ไม่จำกัดจำนวนบัญชีต่อคน

            ธนาคารออมสินเงินฝากเผื่อเรียกพิเศษ เงินฝากเผื่อเรียกพิเศษ 99 วัน รูปแบบใหม่ที่ให้ดอกเบี้ยสูงถึง 2.75% เงินฝากเผื่อเรียกพิเศษ 109 วัน รูปแบบใหม่ที่ให้ดอกเบี้ยสูงถึง 2.85% เงินฝากเผื่อเรียกพิเศษ 11 เดือน รูปแบบใหม่ที่ให้ดอกเบี้ยสูงถึง 3%
            • ให้เลือกประจำสั้น-ยาว
อีกประเภทหนึ่งคือบัญชีเงินฝากประจำ ในกลุ่มนี้จะมีธนาคารขนาดใหญ่เข้ามาทำโปรโมชั่น เพื่อดึงดูดใจลูกค้า เงินฝากประจำรูปแบบนี้ใช้กันมาโดยตลอดซึ่งจะเป็นดอกเบี้ยแบบขั้นบันไดที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้ธนาคารต้องแจ้งอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยให้กับลูกค้าได้ทราบไว้ด้วย แม้ว่าการเชิญชวนจะบอกว่าฝาก 13 เดือน ดอกเบี้ยสูงสุด 13% เป็นอักษรตัวโตเพื่อดึงดูดความสนใจ แต่ดอกเบี้ยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 3.48% กับระยะเวลาฝากคือ 1 ปี 1 เดือน เป็นต้น
            • รู้เหลี่ยมเงินฝาก
            ฝ่ายผลิตภัณฑ์เงินฝากของธนาคารพาณิชย์แนะนำว่าสิ่งหนึ่งที่ผู้มีเงินออมพึงทราบไว้คือ ดอกเบี้ยเงินฝากแบบออมทรัพย์หรือฝากเผื่อเรียกไม่ต้องเสียภาษี 15% จากดอกเบี้ยที่ได้เหมือนกับบัญชีเงินฝากประจำ แต่ตัวอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวไม่กำหนดระยะเวลาแน่นอน ขึ้นอยู่กับธนาคารจะเป็นผู้กำหนด แตกต่างจากบัญชีเงินฝากประจำที่มีอัตราดอกเบี้ยกำหนดไว้แน่นอนจนถึงครบกำหนด เช่น เงินฝากประจำดอกเบี้ย 4% เมื่อหักภาษีแล้วผลตอบแทนสุทธิจะอยู่ที่ 3.4% กับระยะเวลาฝาก 22 เดือนดอกเบี้ยก็จะให้ในอัตรานี้ตลอดจนครบระยะเวลารับฝาก

            ส่วนบัญชีฝากประจำที่ให้อัตราดอกเบี้ยขั้นบันได จะต้องหาอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยก่อนซึ่งส่วนใหญ่ธนาคารจะคิดมาให้ แต่ตัวข้อความอาจจะเล็กไปบ้าง จากนั้นต้องนำมาลบด้วยภาษีที่จะต้องถูกหัก 15% จึงจะได้ดอกเบี้ยสุทธิ หากลองคำนวณแล้วจะสามารถเปรียบเทียบได้ว่าเงินฝากที่ให้ผลตอบแทนที่ดีนั้นควรจะเป็นของธนาคารใด
บัญชีเงินฝากประจำพิเศษจะกำหนดให้ผู้เปิดบัญชีต้องเปิดบัญชีออมทรัพย์ปกติไว้คู่กันเพื่อโอนดอกเบี้ยที่ได้รับ และเมื่อครบกำหนดก็จะโอนเงินต้นกลับไปไว้ที่บัญชีออมทรัพย์เช่นกัน ดังนั้นอย่าหวังว่าดอกเบี้ยที่ได้จะนำไปทบต้นแล้วฝากต่อในบัญชีเดิมเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่มากขึ้น

            นับจากนี้ผู้มีเงินออมจะตัดสินใจโดยดูจากอัตราดอกเบี้ยสูงเพียงอย่างเดียว หรือเห็นจากโฆษณาแล้วตัดสินใจเลยอาจจะทำให้ท่านเสียประโยชน์จากการออมเงินได้ ดีที่สุดคือการโทรศัพท์ไปสอบถามหรือขอเอกสารรายละเอียดนำมาศึกษาก่อนตัดสินใจ และควรทำการเปรียบเทียบกับโปรโมชั่นเงินฝากของธนาคารอื่นๆตรวจสอบเรื่องของเงื่อนไขอื่นๆ เช่น เงินฝากขั้นต่ำ เงินคงค้างในบัญชีว่ามีหรือไม่ ถ้ามีเป็นจำนวนเงินเท่าใด กรณีการถอนก่อนกำหนดกับอัตราดอกเบี้ยว่าจะได้ในอัตราใด เพราะบางแห่งอาจจะให้ดอกเบี้ยเฉพาะช่วงเวลาที่ฝาก หรือบางแห่งอาจปรับดอกเบี้ยลงเหลือเท่ากับดอกเบี้ยฝากออมทรัพย์ปกติ และค่าธรรมเนียมอื่นๆ เพราะไม่เช่นนั้นผลตอบแทนที่ท่านคาดว่าจะได้รับอาจไม่เป็นไปตามที่หวังหากทำผิดเงื่อนไขของธนาคาร

________________________
* โดยหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ฉบับวันที่ 13 มิถุนายน 2555

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น