คลิกๆๆ รูปสวยๆน่ารักๆไว้ส่งต่อเพียบ... คลิกๆๆ รูปสวยๆน่ารักๆไว้ส่งต่อเพียบ... คลิกๆๆ รูปสวยๆน่ารักๆไว้ส่งต่อเพียบ...

วันพฤหัสบดีที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2555

วิธีแก้ไขปัญหาการขาดแคลนสภาพคล่องในการชำระหนี้สิน






คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าเงินเป็นปัจจัยการทำธุรกิจที่ทรงคุณค่ามากที่สุด การจัดหาเงินทุนเข้ามาเติมเต็มในระบบจึงเปรียบเสมือนเป็นการต่อลมหายใจเข้าออกให้กับธุรกิจเลยก็ว่าได้ ซึ่งหนึ่งในวิธียอดนิยมที่เหล่าบรรดานักธุรกิจทั้งหน้าเก่าและใหม่นิยมทำกันมากที่สุดคงเห็นจะหนีไม่พ้น “การกู้เงิน” จากสถาบันการเงิน เพราะมันเอื้อประโยชน์ให้กับการทำธุรกิจมากกว่าการควักกระเป๋าตังค์ตัวเองเป็นไหนๆ
แต่นั่นก็ใช่ว่าการกู้เงินจะนำพามาซึ่งความสุขและกลีบกุหลาบเสมอไป เพราะบางครั้งหากผู้ประกอบการมีวิธีบริหารการเงินที่ย่ำแย่มันอาจกลับกลายเป็นฝันร้ายสำหรับการทำธุรกิจก็เป็นได้ ซึ่งนั่นหมายถึงการกลายสภาพจากผู้ประกอบการมาเป็นลูกหนี้ที่ขาดส่งเงินให้กับเจ้าหนี้นั่นเอง ดังนั้นเราจึงมีวิธีจัดการดีๆมาฝากผู้ประกอบการที่กำลังประสบปัญหาการขาดสภาพคล่องในการชำระหนี้สินอยู่ในขณะนี้ โดยวิธีการที่เราได้ทำการรวบรวมมามีดังต่อไปนี้
เจรจาประนีประนอมกับเจ้าหนี้
ปัญหาทุกอย่างสามารถแก้ไขได้หากทุกคนหันหน้าเข้าพูดคุยกันซึ่งวิธีการนี้ก็สามารถนำมาปรับใช้กับการแก้ไขปัญหาการค้างชำระหนี้สินทางธุรกิจได้ โดยผู้ประกอบการจะต้องเข้าใจก่อนว่าหนี้สินที่มีอยู่ในปัจจุบันนั้นมีจุดเริ่มต้นจากที่ตัวผู้ประกอบการเอง และผู้ประกอบการก็ต้องเป็นผู้รับผิดชอบผลของการกระทำดังกล่าวด้วย ดังนั้นการเจรจาพูดคุยขอประนอมหนี้จึงเป็นวิธีการอย่างแรกที่ควรจะต้องกระทำมากที่สุด เพื่อขอความอนุเคราะห์ในการยืดเวลาการชำระหนี้ออกไป หรือลดจำนวนทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยที่จะส่งให้ อีกทั้งยังเป็นการแสดงความบริสุทธิ์ใจและป้องกันมิให้ปัญหาบานปลายไปสู่กระบวนการทางกฎหมายนั่นเอง
ยอมชำระค่าปรับ
หากผู้ประกอบการไม่สามารถหาเงินมาชำระหนี้ได้ตามเวลาที่กำหนด การยอมรับและเสียค่าปรับในอัตราที่กำหนดคือหนึ่งในวิธีการที่สามารถพึงกระทำได้ แต่ทั้งนี้ก็ต้องยอมรับว่าส่วนใหญ่ค่าปรับที่ใช้คิดสำหรับการผิดนัดชำระเงินมักจะคิดในอัตราที่ค่อนข้างสูงมาก ดังนั้นผู้ประกอบการจะต้องวางแผนทางการเงินให้รอบคอบหากคิดจะใช้วิธีนี้ในการแก้ปัญหาทางการเงินของบริษัท
ขอส่งดอกเบี้ยอย่างเดียว
บางครั้งผู้ประกอบการอาจจะยังไม่มีเงินครบเต็มจำนวนเงินต้นที่จะต้องชำระจริงในแต่ละงวดอันมีสาเหตุที่มาจากการติดขัดบางประการ เมื่อเป็นเช่นนี้ผู้ประกอบการก็สามารถยื่นความจำนงไปยังสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้เพื่อขอเจรจาส่งดอกเบี้ยทดแทนเงินต้นที่ต้องชำระไปก่อนก็ได้ แต่ทั้งนี้จะต้องได้รับความยินยอมพร้อมใจจากทางฝั่งเจ้าหนี้ด้วยวิธีการนี้จึงจะได้ผล
ยืดเวลาการชำระหนี้
การยืดเวลาชำระหนี้หรือที่เรียกว่า Extension นั้นเป็นหนึ่งในวิธีการที่ได้รับความนิยมมาก โดยผู้ประกอบการจะต้องเข้าไปดำเนินการเจรจากับเจ้าหนี้ด้วยตนเองเพื่อขอให้เขายืดเวลาการชำระหนี้ของผู้ประกอบการให้ยาวนานขึ้น ซึ่งข้อดีของวิธีนี้คือจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถปรับโครงสร้างหนี้ของตนเองให้มีสภาพคล่องมากขึ้นได้ แต่ทั้งนี้วิธีการนี้จะต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าหนี้ด้วย ซึ่งส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยมีปัญหาเนื่องจากเจ้าหนี้ยังคงได้รับเงินคืนจากที่กู้ไปเต็มจำนวนอยู่แถมยังได้รับเงินส่วนต่างจากดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอีกด้วย
รีไฟแนนซ์ (Refinance)
บางครั้งการที่ธุรกิจของผู้ประกอบการประสบปัญหาขาดสภาพคล่องในการผ่อนชำระหนี้สินอาจจะมีที่มาส่วนหนึ่งจากสัญญาการกู้เงินฉบับปัจจุบันที่ค่อนข้างจะรัดตัวมากเกินไปก็เป็นได้ การรีไฟแนนซ์จึงเป็นอีกวิธีที่น่าสนใจ โดยผู้ประกอบการจะต้องพิจารณาทางเลือกของข้อเสนอทางการเงินที่ดีขึ้นกว่าสัญญาฉบับปัจจุบันที่มาจากสถาบันทางการเงินต่างๆซึ่งในที่นี้อาจรวมถึงสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้รายปัจจุบันด้วย แล้วจึงเลือกทำข้อตกลงกับข้อเสนอที่ดีที่สุดโดยขอให้ผู้ประกอบการเลือกพิจารณาในข้อเสนอที่จะสามารถช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนของอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงระหว่างของเก่าและของใหม่ว่ามันคุ้มค่ากับค่าใช้จ่ายในการรีไฟแนนซ์หรือไม่ด้วย
แลกเปลี่ยนด้วยหุ้นและสิทธิบริหาร
แต่ถ้าหากผู้ประกอบการไม่สามารถชำระหนี้ได้จริงๆและวิธีการที่เสนอไปก่อนหน้านี้ก็ไม่ได้ผล ขอแนะนำให้ผู้ประกอบการลองยื่นข้อแลกเปลี่ยนด้วยสิ่งที่มีค่ามากที่สุดนั่นก็คือกรรมสิทธิการถือหุ้นของบริษัท โดยทั้งนี้ผู้ที่เป็นเจ้าหนี้จะเป็นผู้พิจารณาดูเองว่าการเข้ามาถือหุ้นธุรกิจในบริษัทของผู้ประกอบการนั้นมันคุ้มค่ากับเงินกู้ที่เขาได้เสียไปก่อนหน้านี้หรือไม่ ผู้ประกอบการจึงควรต้องยื่นขอเสนอในเรื่องการแลกเปลี่ยนหุ้นเพื่อชดเชยหนี้สินที่บริษัทมีให้ดีที่สุดด้วย
ขอเลิกกิจการ
บางครั้งการกล้ำกลืนฝืนทนกับอะไรบางสิ่งบางอย่างที่ดูไม่มีอนาคต มันเหมือนจะเป็นการสู้ไปโดยเปล่าประโยชน์และอาจจะทำให้ผู้ประกอบการเจ็บตัวเพิ่มมากขึ้นไปอีก ดังนั้นการปิดกิจการและนำทรัพย์สินออกขายทอดตลาดก็ดูจะเป็นทางออกที่น่าจะดีที่สุดสำหรับธุรกิจที่ไม่มีที่เดินในวันนี้อีกแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่เจ้าของเงินกู้มักจะไม่มีปัญหาในส่วนนี้เพราะพวกเขาจะได้เงินต้นพร้อมดอกเบี้ยคืนในเวลาที่รวดเร็วมากขึ้นและไม่มีวันจะขาดทุนโดยเด็ดขาด อันเนื่องจากพวกเขาได้ทำการประเมินทรัพย์สินของทางบริษัทเอาไว้ล่วงหน้าก่อนที่จะอนุมัติเงินกู้ไว้แล้วนั่นเอง
ความจริงแล้วการขาดสภาพคล่องในการชำระหนี้สินถือเป็นปัญหาที่พบเห็นกันได้บ่อยมากในการทำธุรกิจ ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นปัญหาไม่ได้อยู่ตรงที่หนี้สินที่คุณมีแต่ประเด็นของมันจริงๆแล้วอยู่ตรงที่คุณหาเงินเข้ามาได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น ดังนั้นก่อนที่จะทำสัญญากู้เงินแต่ละครั้งขอให้ผู้ประกอบการคิดและวางแผนทางการเงินอย่างรอบคอบโดยมองไปที่อนาคตเป็นหลักด้วย การกู้เงินจึงจะแปรเปลี่ยนมาเป็นการสร้างผลกำไรเพื่อการเติบโตให้กับธุรกิจในอนาคตได้อย่างคุ้มค่า


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น